×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิกออฟ “โครงการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย” ชูกลไก “TIPA” เป็นเครื่องมือเปลี่ยนความฝันสู่นโยบายที่จับต้องได้

สอวช. ร่วม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิกออฟ “โครงการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย” ชูกลไก “TIPA” เป็นเครื่องมือเปลี่ยนความฝันสู่นโยบายที่จับต้องได้

วันที่เผยแพร่ 14 มีนาคม 2020 460 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ผลักดันนโยบายนวัตกรรมสังคม เชิญบุคลากรตำรวจ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ ระดมสมอง Kick off โครงการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย ชูกลไก “TIPA” เป็นเครื่องมือเปลี่ยนความฝันสู่นโยบายที่จับต้องได้

ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า โครงการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย เป็นการโครงการที่นำแนวคิด Design Thinking และ System Thinking มาเป็นเครื่องมือในการออกแบบนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายนั้น ๆ ซึ่งการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย เราก็ได้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำโดย พล.ต.ต.​เสนิต​ สำราญ​สำรวจ​กิจ ผู้บังคับการ​กองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์​ตำรวจ และ พล.ต.ต.ภวัต ประทีปวิศรุต ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา นำบุคลากรตำรวจจากหน่วยต่าง ๆ เข้ามาร่วมให้มุมมองความคิดเห็น โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็มีความสนใจและมีนโยบายที่จะทำเรื่องเมืองปลอดภัย และมีเจตนารมย์ที่แน่วแน่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้านความปลอดภัยอยู่แล้วจึงได้มาร่วมกันทำงานตั้งแต่ต้นน้ำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการมองภาพอนาคตมาร่วมออกแบบกระบวนการเวิร์คช้อปในครั้งนี้

“โครงการออกแบบกระบวนการและสนับสนุนการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย เกิดขึ้นเพื่อรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ระบบและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการออกแบบการทำงานและการทำ Policy Landscape ของการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย (Safe City) โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์เข้าใจปัญหาอย่างรอบด้าน และเสาะแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเป้าหมายของเราคือ ต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการ Kick off และเวิร์คช้อปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การระดมสมองถึงมุมมองที่มีต่อเมืองปลอดภัย รวมถึงภาพในอนาคตว่าอยากเห็นเมืองปลอดภัยในประเทศไทยเป็นแบบไหน ทั้งนี้ ในต่างประเทศเองมีตัวชี้วัดเรื่องความเป็นเมืองปลอดภัยอยู่ 4 มิติ ประกอบด้วย ความมั่นคงทางดิจิทัล ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงส่วนบุคคล สำหรับตัวชี้วัดเมืองปลอดภัยของประเทศไทย สอวช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีแนวคิดที่จะสร้างตัวชี้วัดความเป็นเมืองปลอดภัยที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย และเชื่อว่าการทำงานร่วมกันภายใต้โครงการนี้จะช่วยสร้างให้สิ่งที่เราอยากเห็นสู่นโยบายที่จับต้องได้ เกิดตัวชี้วัดเมืองปลอดภัยที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิด และหลังจากกิจกรรมในวันนี้จะมีการเวิร์คช้อปอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ทั้งด้าน Strategic Foresight การวิเคราะห์ (Diagnose) การค้นพบเข้าใจปัญหา (Discover) ด้าน Develop Co-Creation และสัปดาห์สุดท้ายจะเป็น Develop Hack Day ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้”

ดร. กาญจนา ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการออกแบบกระบวนการและสนับสนุนการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย เป็นโครงการที่ สอวช. ได้นำกลไกใหม่ที่จะช่วยเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ให้กลายเป็นนโยบายที่จับต้องได้ผ่านกระบวนการ Policy Design Process โดยใช้แนวคิดหลักการ Design Thinking และ System Thinking ในการทำความเข้าใจปัญหา เข้าใจผู้ใช้และใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อออกแบบนโยบายที่เหมาะกับผู้ใช้จริง โดยเรียกกลไกนี้ว่า TIPA หรือ Thailand Innovation Policy Accelerator ซึ่งจุดเด่นของกลไกนี้ คือ การดำเนินการที่รวดเร็ว ยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมในการคิดและลงมือทำร่วมกันเพื่อให้รองรับกับบริบทที่เปลี่ยนเเปลงไปอย่างรวดเร็ว

Tags:

เรื่องล่าสุด