×

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง (Thailand Plus Package)


หน้าหลัก » มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง (Thailand Plus Package)

การดำเนินงานมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง (Thailand Plus Package)

จากมติที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ได้เห็นชอบแพคเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package ซึ่งกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุน ทั้งมาตรการภาษี การพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน เร่งรัดให้ได้ข้อสรุปเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ พร้อมทำตลาดเชิงรุก โดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายตามมติที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ให้ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนานโยบายสนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ จึงได้จัดทำข้อมูลสนับสนุนและกลไกการดำเนินงานเพื่อนำไปจัดทำร่างพระราชกฤษฎีการ่วมกับกระทรวงการคลัง โดยต่อมามีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 392 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และฉบับที่ 393 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ซึ่ง สอวช. ได้ร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ดำเนินการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ โดยพิจารณาเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา และมีข้อเสนอแนะต่ออธิบดีกรมสรรพากรในการขยายมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไปในปี 2564- 2565

ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้มีการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ และยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างออกพระราชกฤษฎีกาและการออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อรองรับการขยายมาตรการ

นอกจากนี้ สอวช. และ สป.อว. ยังได้ร่วมกันจัดทำแพลตฟอร์มบริการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการพัฒนากำลังคนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันแพลตฟอร์มดังกล่าวได้รองรับ “การรับรองหลักสูตรฝึกอบรมและการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสนับสนุนทางภาษีภายใต้โครงการ Thailand Plus Package ที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับและพัฒนาทักษะของบุคลากรผ่านรูปแบบการฝึกอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจากกระทรวง อว. รวมทั้งการส่งเสริมการให้เกิดการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ซึ่งมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 250% สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ที่ผ่านการรับรองโดย อว.

มาตรการที่ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

และในอนาคตอันใกล้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีทั้งบริการประสานงาน เชื่อมโยง ฝั่ง Demand และฝั่ง Supply วิเคราะห์ความต้องการกำลังคน และบริหารจัดการข้อมูล ที่ให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย อาทิ การจับคู่กำลังคนที่มีทักษะตรงตามตำแหน่งงาน Job Positioning, Reskill/Upskill ให้แก่บุคลากรขององค์กร, Co-Creation เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและภาคการอุดมศึกษา ไปจนถึงการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฝึกปฏิบัติงานหรือ Industrial Training Center (ITC) เป็นต้น

แพลตฟอร์มบริการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการพัฒนากำลังคนสำหรับภาคอุตสาหกรรม >> www.stemplus.or.th

ประกาศ สอวช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรและรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์