×

การขจัดความยากจนอย่างตรงจุด


หน้าหลัก » การขจัดความยากจนอย่างตรงจุด

การขจัดความยากจนถือเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยที่ผ่านมาประเทศไทยดำเนินมาตรการขจัดความยากจนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนคนยากจนในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 10 ในปี พ.ศ. 2557 เป็นร้อยละ 6.24 ในปี พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ทำให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับมาตรการการขจัดความยากจนเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความยากจนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2563 ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างเบ็ดเสร็จ (Absolutely Poverty Eradication) โดยใช้มาตรการการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด (Targeted Poverty Eradication: TPE) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ และใช้เวลาเพียง 7 ปี ในการขจัดความยากจนให้เหลือ 0 คน ในปี พ.ศ. 2563 จากจำนวนคนยากจน 83 ล้านคน (ร้อยละ 8.5 ของสัดส่วนประชากรทั้งหมด)
ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นนโยบาย ทั้งนี้ พบว่านโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

  • นโยบายจากผู้นำมีความจริงจัง และต่อเนื่อง กำหนดเป้าหมายระดับประเทศที่ชัดเจนโดยทุกหน่วยงาน
    มีเป้าหมายร่วมกัน (Common Goal) และเชื่อมโยงมาตรการขจัดความยากจนของทุกหน่วยงานให้มีการบูรณาการอย่างชัดเจน
  • การออกแบบมาตรการอย่างเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมาย (Tailor-made) โดยทรัพยากรที่ใช้ต้องส่งถึงกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็น และมีมาตรการที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละครัวเรือน แต่ละพื้นที่
  • ทุกมาตรการต้องยึดหลักสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ในระยะยาว (Sustainability) โดยเน้นให้
    คนยากจนมีอาชีพที่มีรายได้มั่นคง
  • การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (ววน.) ขจัดความยากจน (Innovation against poverty) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน หรือขยายการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรให้คนยากจน

โดยมุ่งเน้นให้แก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือไปยังครัวเรือนยากจน ผ่านกลไกการให้เงินทุนและพัฒนาโครงการอย่างตรงตามวัตถุประสงค์และสอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยส่งทีมที่มีความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับพื้นที่ลงเกาะติดครัวเรือนอย่างน้อย 3 ปี เพื่อวิเคราะห์รากของปัญหาความยากจน กำหนดกลุ่มเป้าหมายและพิจารณาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำมาออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ครัวเรือนยากจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ดังนั้น ทั้งข้อมูลเชิงสถิติ และข้อมูลเชิงลึกจากการลงพื้นที่รายครัวเรือนจึงมีความสำคัญในการดำเนินมาตรการ ทั้งนี้ ต้องมีการติดตามและประเมินผล การสื่อสาร และสร้างความรับรู้ถึงผลสัมฤทธิ์ของการขจัดความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

แม้ความยากจนจะเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการศึกษา แต่จากแนวปฏิบัติของจีนได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่สำคัญ คือ การขจัดความยากจนด้วยการสร้างศักยภาพแทนการสงเคราะห์แบบให้เปล่า หรือ “ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา” และแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ หลุดพ้นจากความยากจนและความขาดแคลนได้ คือ การสร้างธุรกิจและการสร้างงานในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากนโยบายระดับประเทศและต้องทำงานที่สอดคล้องกันกับกลไกในระดับพื้นที่อีกด้วย

ที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย
มีการดำเนินงานในหลายมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา ดำเนินการโดยกระทรวง หรือหน่วยงานที่มีภาระกิจโดยตรงในมิตินั้น ๆ ตามอำนาจหน้าที่ และความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน โดยยังไม่มีกลไกการกำกับดูแล ติดตาม และบูรณาการการดำเนินงานขจัดความยากจนในภาพรวม นอกจากนี้ มาตรการ/โครงการ เพื่อขจัดความยากจนของแต่ละหน่วยงานส่วนใหญ่จะเป็นการเสนอแนวทางจากระดับนโยบายสู่ระดับพื้นที่ ในลักษณะของการดำเนินงานแบบถ้วนหน้า หรือผ่านองค์กรชุมชนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการพัฒนากลไก และเครื่องมือ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายคนยากจนเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับนี้ ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ เป็นกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดเป้าหมาย นโยบายเพื่อดำเนินงานการแก้ปัญหาความยากจนอย่างชัดเจนและตรงจุด ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณและโครงสร้างพื้นฐานหรือปลดล็อคกฎระเบียบที่จำเป็น ในระดับปฏิบัติการได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับภูมิภาคทั้ง 6 ภูมิภาค ทำหน้าที่พิจารณาคัดเลือกโครงการธุรกิจที่เสนอ (TPE Programs) และดำเนินการโดยนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งโดยตัวแทนจากชุมชน โดยคณะทำงานจะพิจารณาศักยภาพและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจอย่างถี่ถ้วน ตลอดจนตรวจสอบกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ตัวอย่างธุรกิจชุมชน เช่น ธุรกิจเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบนพื้นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น

ธุรกิจที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณและการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการขยายธุรกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปมีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีการประเมินความเสี่ยงเป็นลำดับขั้น ก่อนการจัดตั้งนิติบุคคล ชุมชนหรือครัวเรือนจะได้รับการสนับสนุนทุน องค์ความรู้ และคำแนะนำจากเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ หรือเอกชนพี่เลี้ยง เพื่อช่วยวิเคราะห์ วิจัย ปัญหา ตลอดจนค้นหาศักยภาพของครัวเรือนและพื้นที่ ก่อนจะนำมาสู่การสนับสนุนให้ครัวเรือนหรือชุมชนพัฒนาโมเดลธุรกิจของตนเอง นอกจากนี้ พี่เลี้ยงหรือเครือข่ายยังต้องสนับสนุนการเชื่อมโยงกับตลาดหรือคู่ค้า เพื่อลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้มั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินไปได้ด้วยดี