×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » รมว.อว. แนะดึงจุลินทรีย์ เป็นจุดแข็งความหลากหลายทางชีวภาพไทยแข่งขันเศรษฐกิจหมุนเวียนกับต่างชาติ ด้านบอร์ด สอวช. ชี้ควรให้ความสำคัญเรื่องกฎหมายและมาตรการจูงใจผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ

รมว.อว. แนะดึงจุลินทรีย์ เป็นจุดแข็งความหลากหลายทางชีวภาพไทยแข่งขันเศรษฐกิจหมุนเวียนกับต่างชาติ ด้านบอร์ด สอวช. ชี้ควรให้ความสำคัญเรื่องกฎหมายและมาตรการจูงใจผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ

วันที่เผยแพร่ 9 มีนาคม 2021 519 Views

(8 มีนาคม 2564) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุม

ระเบียบวาระที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือการเสนอที่ประชุม เพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อหลักการและแนวทางการดำเนินงานของ “แพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนานโยบายนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Innovation Policy Platform)” ที่ สอวช. จัดทำขึ้น โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทย เช่น ทำให้คนไทยทิ้งขยะ แยกขยะแบบในสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรทำ แต่จะไม่ใช่จุดที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ควรหันมามองว่าอะไรเป็นจุดที่เราทำไม่กี่เรื่องแต่มันขยับ เช่น การให้จุลินทรีย์ทำงานแทนเรา เหมือนคนขายหุ้น ที่ให้เงินทำงานแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยมีจุดเด่นที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง (Biodiversity) เป็นอันดับ 6 ของโลก และจุลินทรีย์เป็นตัวช่วยในการย่อยได้ดี มีงานวิจัยทางด้านจุลินทรีย์หลายงานที่น่าสนใจ ถ้าหากทำเรื่องจุลินทรีย์ ทำให้รู้ว่าจะนำจุลินทรีย์มาใช้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างไร ใช้ความเข้มแข็งที่เรามี จะเป็นแนวทางให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ และเนื่องจากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ หากประเทศไทยต้องการจะขับเคลื่อนในด้านนี้โดยใช้แบบอย่างจากต่างประเทศ อาจไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะเราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มเดินแต่คนอื่นเดินมานานแล้ว ถ้าคิดว่าจะไปเลียนแบบประเทศที่พัฒนาแล้วเราจะตามไม่ทัน ในส่วนการแก้กฎหมายเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ต้องใช้เวลา 2-3 ปี ดังนั้นต้องทำสิ่งที่ทำได้ไปก่อน

“ถ้าจะรบกับใครต้องเอาจุดแข็งไปรบ เพื่อไปรบกับจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม เราต้องรบจากจุดแข็ง ถ้าเป็นเรื่องความเป็นอยู่จะต้องใช้เวลา ถือเป็นจุดอ่อน การเข้าไปทำความเข้าใจต้องใช้ความรู้ ว่าอะไรที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องไปคุยกับนักเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องคิดว่าอะไรที่เราทำแล้วลดข้อเสียเปรียบต่างชาติ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเรา ” รมว.อว. กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำเสนอการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ สอวช. โดยการตั้งเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ การประยุกต์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs), สร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน 3% ของ GDP, ลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 3, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 25% และปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติที่ดีของการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในต่างประเทศเป็นตัวอย่าง เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, จีน, เนเธอร์แลนด์, ฟินแลนด์ เป็นต้น

ส่วนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในกลไกการปฏิบัติที่ยังเป็นโครงสร้างแบบ Linear Model “ผลิต ใช้ กำจัด” หากต้องการให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยต้องตั้งวงให้มีการหารือด้านการวางนโยบาย เป้าหมาย และทิศทางเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกัน ต้องมีรูปแบบการดำเนินงานที่ชัดเจน ให้เกิดมาตรการต่างๆ มารองรับ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการเกิดระบบหมุนเวียนปิดของทรัพยากร (Close Loop) และเพิ่มมูลค่าจากของเสีย/วัสดุเหลือใช้ เกิดแรงจูงใจ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้ผลิตและบริการ การลดใช้ทรัพยากร และรูปแบบธุรกิจที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ สอวช. ยังได้วางแนวทางการทำ Intervention Models ให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนของเสีย/วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน (Waste Symbiosis) 2.การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ขายและรีไซเคิล (Reverse Logistic & Recycle) 3.การหมุนเวียนอาหารถูกทิ้ง (Circular Food Waste) และ 4.CE Platform for Green Construction & Smart City ซึ่งการดำเนินงานตามแผนทั้งหมด ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ การมียุทธศาสตร์และเป้าหมายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศร่วมกัน รวมทั้งกำจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้าง (Infrastructure) และปัจจัยเอื้อ (Enabling), การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน, ดำเนินโปรแกรม ที่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ CE Sandbox, ข้อเสนอร่างกฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น, และการนำเสนอในเวทีนานาชาติ APEC-PPSTI เพื่อประกาศทิศทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคต่อไป

ในส่วนความเห็นโดยรวมของที่ประชุมมองว่า การขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่สำคัญคือเรื่องกฎหมาย ในประเทศไทยต้องมีการสำรวจว่ามีกฎหมายใดบ้าง ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข กฎหมายใดที่เป็นข้อส่งเสริม และข้อจำกัดในการพัฒนา ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือมาตรการในเรื่องแรงจูงใจ เช่น มาตรการด้านภาษี สิทธิประโยชน์อื่นๆ หรือการลงโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามในการจัดการปัญหาขยะ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับคนในประเทศ และการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนโดยสมบูรณ์ โดยอาจมีการวางเป้าหมายการดำเนินงานทั้งในระยะสั้น และระยะยาว หรือเริ่มนำไปปฏิบัติกับกลุ่มคนในบางกลุ่มนำร่อง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม บริษัท ผู้ประกอบการ ก่อนจะมุ่งไปที่ประชาชนทั่วไป อีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ คือการสร้างความตระหนักและความเข้าใจให้กับประชาชน การจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนขับเคลื่อนไปได้ ต้องเริ่มจากการกระตุ้นให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลกระทบโดยรวมที่ใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของประชาชน สัมพันธ์กับการประกอบอาชีพ และทำให้เกิดรายได้กลับไปสู่ประชาชน รวมถึงสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจชุมชนฐานราก เพราะคนกลุ่มนี้มีผลกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วยเช่นกัน

Tags:

เรื่องล่าสุด