×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » บพท. สอวช. เลือก 10 จังหวัดนำร่องที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศไทย ลุยใช้การวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจน ตั้งเป้าประชาชนหลุดพ้นยากจนอย่างยั่งยืน

บพท. สอวช. เลือก 10 จังหวัดนำร่องที่มีรายได้น้อยที่สุดในประเทศไทย ลุยใช้การวิจัยและนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจน ตั้งเป้าประชาชนหลุดพ้นยากจนอย่างยั่งยืน

วันที่เผยแพร่ 14 กันยายน 2020 905 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร สอวช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการให้ สอวช. ดำเนินการนำงานวิจัยและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในส่วนของ สอวช. โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้ดำเนินโครงการ “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” โดยมีเป้าหมายเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า การดำเนินโครงการเริ่มต้นจากพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท ปัตตานี กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ มุกดาหาร และสกลนคร โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและยั่งยืน โดยประชากรกลุ่มยากจนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน และสามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา สวัสดิการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามกลุ่มเป้าหมายคนจนที่มีความแม่นยำ เพื่อให้การจัดสรรสวัสดิการรัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงคนจนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะเพื่อปรับเปลี่ยนเป็น knowledge worker หรือ smart farmer มีรายได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า จากการดำเนินงานวิจัยมา 2 เดือน พบว่า สามารถดำเนินงานวิจัยได้ตามแผน ทั้งการพัฒนาและทดสอบเครื่องมือการสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาความยากจนในพื้นที่ และพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยทีมสถาบันการศึกษาในพื้นที่สร้างกลไกความร่วมมือกับจังหวัด เป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด และเริ่มขับเคลื่อนการสำรวจปัญหาความยากจนรายครัวเรือน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือทั้งระดับพื้นที่และส่วนกลาง นอกจากนี้ ทีมภาคประชาสังคมยังได้พัฒนาระบบและเครื่องมือกลางในการสำรวจ วิเคราะห์สภาพปัญหาเชิงลึกของคนจนในพื้นที่และสำรวจศักยภาพและทุนในพื้นที่ สร้างระบบการช่วยเหลือและจัดการหนุนเสริมกระบวนการทำงานกับกลไกจังหวัด และสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง 10 จังหวัด ขณะเดียวกัน บพท. ยังได้ประสานทำความร่วมมือกับ กระทรวงมหาดไทย ในด้านจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการวิจัยร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด เพื่อติดตามและประสานงานการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ รวมถึงการประสานทำความร่วมมือกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพัฒนา system based research พร้อมทั้งวิจัยนโยบาย ทำ state of development และทำการสังเคราะห์งานภาพรวมและเชื่อมโยงระบบในระดับชาติ

ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 5 – 7 กันยายน ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พร้อมคณะผู้บริหารจากกระทรวง อว. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่องการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานราก เน้นการมีส่วนร่วมของภาคีในพื้นที่ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาคมในพื้นที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ชื่นชมการทำงานในพื้นที่ของทุกภาคส่วน นอกจากได้เห็นศักยภาพของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยแล้ว ชาวบ้านยังเข้าใจว่างานวิจัยคืออะไร ซึ่งทางกระทรวงฯ จะสนับสนุนให้ บพท .เข้ามาพัฒนาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด