messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. แลกเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมระบบนิเวศ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมเผยมาตรการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ผ่านการทำแซนด์บ็อกซ์ การพัฒนากำลังคน และกลไก University Holding Company

กระทรวง อว. โดย สอวช. แลกเปลี่ยนแนวทางส่งเสริมระบบนิเวศ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พร้อมเผยมาตรการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม ผ่านการทำแซนด์บ็อกซ์ การพัฒนากำลังคน และกลไก University Holding Company

วันที่เผยแพร่ 1 สิงหาคม 2024 259 Views

(30 กรกฎาคม 2567) ดร.สิริพร พิทยโสภณ รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมการเสวนารับฟังข้อคิดเห็น ในหัวข้อ “การใช้ประโยชน์ผลการศึกษาฯ ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมระบบนิเวศ ววน. ของประเทศ” ในการสัมมนาประชาพิจารณ์ (Public Hearing) โครงการทบทวนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ บอลรูม 1 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

ดร.สิริพร กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อที่จะนำพาประเทศไทยออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ไทยพัฒนาขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเกิดเป็นสังคมที่มีความยั่งยืน ซึ่งการจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้เริ่มจากความร่วมมือของภาครัฐ หน่วยงานรัฐ กระทรวงต่าง ๆ ร่วมกับภาคเอกชน ประชาชน และต่างประเทศ ในการนำ อววน. เข้าไปช่วยสร้างขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และมีคุณภาพระดับนานาชาติ การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิจัย เทคโนโลยี ที่เข้มแข็ง เป็นเลิศ สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมได้ โดยจะต้องมีกลไกการทำงานแบบไตรภาคี (Triple Helix) มีการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม สร้างขีดความสามารถทางวิทยาการและนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีของไทย เพิ่มรายได้และโอกาสให้กับเกษตร วิสาหกิจชุมชน เพิ่มคุณภาพเยาวชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความยั่งยืนทางทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมของประเทศ ที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้

จากกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566-2570 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566-2570 ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 15 แผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบายของแผนด้าน ววน. 2566-2570 โดย ดร.สิริพร ได้ยกตัวอย่างแผนงานสำคัญ ได้แก่ ประเด็นเรื่องอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่จะต้องมองถึงการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ พบว่าช่องว่าง (Gap) ที่เรากำลังเผชิญอยู่ เช่น ต้นทุนปัจจัยการผลิตสูง ปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบไม่แน่นอน มีผู้ประกอบการไทยที่ผลิตได้ตรงตามมาตรฐานน้อย และใช้ระยะเวลาขึ้นทะเบียนนาน ไม่ทันต่อการใช้งาน การจะปิด Gap ดังกล่าวได้ จะต้องอาศัยทั้งการวิจัยและพัฒนา เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ กระบวนการผลิต เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การมีโมเดลธุรกิจที่แข่งขันได้ สำหรับด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และทางคุณภาพ อาทิ Pilot Plant การมีมาตรฐานสากล การมีระบบรับรองผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

ดร.สิรพร ยังได้กล่าวถึงข้อมูลสัดส่วนงบประมาณในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เป็นงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประมาณ 10,000 ล้านบาท และในภาพรวมโครงการภายใต้กองทุน ววน. ที่เกี่ยวข้องกับอาหารแห่งอนาคตส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งในอนาคต ควรพิจารณาใช้กระบวนการพัฒนาแผนแบบ Agenda-based โดยวิเคราะห์จุดแข็ง ขีดความสามารถของหน่วยงานในระบบ ววน. และภาคเอกชน ประกอบกับการมองแนวโน้มเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญ ควบคู่ไปกับการสร้าง consortium ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเด็นต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และบูรณาการการทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ ดร.สิริพร ได้กล่าวถึงมาตรการในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม เช่น การทำแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งคิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการช่วยปลดล็อกทั้งในเรื่องการทำวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ อีกส่วนหนึ่งที่มีการพูดคุยกันอย่างมากคือเรื่องของการพัฒนาคน เพื่อดึงดูดการลงทุน สอวช. ทำงานร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ขับเคลื่อนมาตรการ Thailand Plus Package รับรองหลักสูตรการพัฒนากำลังคนตามอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM หรือส่งบุคลากรเข้าไปอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง สามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอยกเว้นภาษีได้ ซึ่ง สอวช. มีแนวทางขยายการดำเนินงานศูนย์ประสานงาน STEM OSS (STEM One-Stop Service) ให้ครอบคลุมกระจายทั่วภูมิภาคของประเทศ อีกหนึ่งกลไกที่ สอวช. ผลักดันให้เกิดขึ้นคือการส่งเสริมการร่วมลงทุนเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยกลไก University Holding Company ให้มหาวิทยาลัยสามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งในขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ ทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม ที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นได้

เรื่องล่าสุด