×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมอภิปรายบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในการลดความเหลื่อมล้ำ ในการประชุมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ

สอวช. ร่วมอภิปรายบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ในการลดความเหลื่อมล้ำ ในการประชุมขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ

วันที่เผยแพร่ 14 พฤศจิกายน 2023 297 Views

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 7 (Seventh South-East Asia Multi-Stakeholder Forum) ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ที่ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Conference Centre) กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2566 ภายใต้หัวข้อหลัก “Reinforcing the 2030 Agenda for Sustainable Development and Eradicating Poverty in Times of Multiple Crises: The Effective Delivery of Sustainable, Resilient and Innovative Solutions in Asia and the Pacific” ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบผสมผสาน (hybrid meeting)

การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจและอภิปรายเชิงลึกถึงการเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตลอดจนแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลและการรับมือกับความท้าทายในภูมิภาคสำหรับการบรรลุเป้าหมายที่ 1 (SDG 1) – ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 2 (SDG 2) – ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 (SDG 13) รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 16 (SDG 16) ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ และเป้าหมายที่ 17 (SDG 17) – เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ผลการประชุมจะได้นำเข้าสู่การประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Asia-Pacific Forum on Sustainable Development: APFSD) และการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ของสหประชาชาติต่อไป

ในการนี้ ดร.ปราณปรียา ได้รับเชิญให้ทำหน้าที่ผู้ร่วมอภิปราย (panelist) ในหัวข้อ “SDG 1 – Reducing Inequalities: Artificial Intelligence (AI) for Development – Catalyzing Inclusive Development and Sustainable Progress in Southeast Asia” โดยได้นำเสนอแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570) พร้อมยกตัวอย่างการดำเนินงานด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทยและภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ โครงการ AI for Social Good โครงการ AI for All และสถานะปัจจุบันของ ASEAN Guide on AI Governance and Ethics นอกจากนี้ ดร.ปราณปรียา ได้กล่าวถึงความสำคัญและบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ ในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน อีกทั้งยังเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทภาครัฐในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และประเด็นความท้าทายโดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคนและการศึกษา ที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุม Seventh South-East Asia Multi-Stakeholder Forum สามารถเข้าถึงได้ที่: https://www.unescap.org/events/2023/seventh-south-east-asia-multi-stakeholder-forum-reinforcing-2030-agenda-and-eradicating#

เรื่องล่าสุด