×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศร่วมกับ National Institute of Green Technology (NIGT) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสีเขียวจากสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมศึกษาดูงานเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวครบวงจร ณ เมืองช็องจู ระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2567

สอวช. จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศร่วมกับ National Institute of Green Technology (NIGT) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีสีเขียวจากสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมศึกษาดูงานเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวครบวงจร ณ เมืองช็องจู ระหว่างวันที่ 1 – 3 เมษายน 2567

วันที่เผยแพร่ 22 เมษายน 2024 81 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดยดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พร้อมกับ ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่าย และ ดร.ดวงกมล พิหูสูตร นักพัฒนานโยบาย ฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ National Institute of Green Technology (NIGT) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ณ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน โดยความร่วมมือนี้ได้มุ่งเน้นการเข้าถึงกลไกการเงินระดับนานาชาติเข้ามาสนับสนุนร่วมด้วย

หน่วยงาน NIGT เป็นสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อสนับสนุนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นหน่วยงานของรัฐ ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและระดับนานาชาติในด้านนี้ ทั้งนี้ได้มีการร่วมการดำเนินงานกับ สอวช. ในระยะที่ผ่านมา โดย NIGT เป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาศึกษาการพัฒนายุทธศาสตร์และแผนที่นำทางการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสำหรับประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนการดำเนินงาน UNFCCC ผ่านศูนย์เครือข่ายเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Centre and Network, CTCN) ทั้งนี้ NIGT ได้เล็งเห็นบทบาทของ สอวช. ที่เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity, NDE) และจัดทำนโยบายและเป็นเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสามารถร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ จึงเกิดบันทึกข้อตกลงนี้ ซึ่งจะใช้บทบาทของแต่ละหน่วยงานสร้างความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อตกลงความร่วมมือฯ นี้มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี นับจากวันที่ 2 เมษายน 2567

ภายในงานการจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง 2 หน่วยงาน และมีบริษัท SK ecoplant เข้าร่วมหารือด้วยเพื่อนำเสนอตัวอย่างเทคโนโลยีสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความพร้อมในการต่อยอดอาทิ การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากขยะอินทรีย์ เทคโนโลยีการปรับปรุงก๊าซชีวภาพ (Biogas) เป็น Biofuel ที่เรีกว่า Renewable Natural Gas (RNG) ด้วยเยื่อเลือกผ่านที่มีประสิทธิภาพสูง หรือ SKEP Biogas upgrading system ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในปัจจุบัน

นอกจากนี้สถาบัน NIGT ได้พาเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยต้นแบบการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแบบครบวงจร ณ Chungju Food Waste Bioenergy Center ตั้งอยู่ในเขตเมืองช็องจู (Chungju) บนพื้นที่ศูนย์วิจัยขนาด 7,200 ตารางเมตร  โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้เป็นโรงงานต้นแบบที่แบ่งการผลิตออกเป็น 2 ส่วนได้แก่  ส่วนผลิต Biogas และส่วนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งส่วนการผลิต Biogas เป็นการผลิตจากขยะเศษอาหารชุมชนในเมือง Chungju ประมาณ 60 ตันต่อวันและอยู่ในระหว่างการขยายให้ครอบคลุมทั้งเมืองเพื่อเป็นวิธีการกำจัดขยะเศษอาหารไปสู่การผลิตพลังงาน และนำ Biogas ที่ได้ดังกล่าวเข้ากระบวนการผลิตไฮโดรเจนด้วยวิธีการ steam reforming โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 300 Nm3/h หรือประมาณ  348 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยไฮโดรเจนแก๊สที่ผลิตได้จะถูกกักเก็บในถังด้วยกระบวนการบีบอัดแรงดันสูงก่อนจะจ่ายเข้าสู่สถานีโดยท่อลำเลียงแสตนเลสพิเศษซึ่งจำหน่ายภายในบริเวณศูนย์วิจัย และขนส่งไปยังสถานีจำหน่ายอื่นๆ ในเมือง Chungju ต่อไป รวมไปถึงสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถพลังงานไฮโดรเจน (FCEV) มากกว่า 65 คันต่อวัน และรถโดยสารให้บริการสาธารณะมากกว่า 2 คันต่อวัน ซึ่งภาครัฐได้มีการสนับสนุนทางภาษีและสนับสนุนบริษัทเอกชนผลิตรถพลังงานไฮโดรเจน (FCEV) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและใช้งานจริงโดยเริ่มต้นที่เมือง Chungju และขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ ต่อไป นอกจากนี้โรงงานผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวที่เริ่มต้นจากการจัดการขยะเศษอาหารได้มีกระบวนการบำบัดของเสียที่ออกจากระบบร่วมด้วยอาทิ การบำบัดน้ำทิ้ง การบำบัดกลิ่นจากกระบวนการหมักและหมุนเวียนเป็นแก๊สกลับสู่ระบบ และการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่รวบรวมได้จากระบบเพื่อใช้ในระบบการปลูกพืชในโรงเรือนอีกด้วย ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture Utilization, CCU)

เรื่องล่าสุด