×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “Future Food” เทรนด์อาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย “สอวช.” ชี้ หากไทยมีนโยบายชัดเจนทั้งระบบ-ความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือที่เข้มแข็งจากภาคเอกชน เป้าส่งออก 350,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 เป็นไปได้แน่นอน

“Future Food” เทรนด์อาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย “สอวช.” ชี้ หากไทยมีนโยบายชัดเจนทั้งระบบ-ความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือที่เข้มแข็งจากภาคเอกชน เป้าส่งออก 350,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 เป็นไปได้แน่นอน

วันที่เผยแพร่ 13 พฤศจิกายน 2023 799 Views

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 สหพันธ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารนานาชาติ (International Union of Food Science and Technology : IUFoST) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยยายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงานประชุม “Resilient and Innovative Food Systems” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยการประชุมดังกล่าว ถูกจัดขึ้นเนื่องจากตระหนักถึงระบบอาหารของโลกมีความเปราะบางและไม่เพียงพอต่อความต้องการของมวลมนุษยชาติ และเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ไม่ได้รับอาหารเพื่อสุขภาพ โดยปัญหาเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความขัดแย้ง ภาวะโลกระบาด ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น IUFoST ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการเกษตร อาหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ โภชนาการ ใน การเปลี่ยนแปลง ระบบ อาหาร เทคโนโลยีบูรณาการและนวัตกรรมสามารถให้แนวทางแก้ไขความท้าทายที่คาดเดาไม่ได้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งในโลก การประชุมครั้งนี้ จึงมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจ เสริมสร้าง และยกระดับ ความสามารถในการจัดการระบบอาหารอย่างยั่งยืนในทุกภูมิภาคเชื่อมโยงกับนโยบายอาหารของทั่วโลก เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนและความยืดหยุ่นของระบบอาหารต่อไป

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร สอวช. กำลังดำเนินการกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ของภาคอาหาร ซึ่งจะเป็นกลไกการเติบโตใหม่ของประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแห่งอนาคต  ซึ่งมีความสำคัญในการกำหนดอาหารแห่งอนาคต โดยเราพิจารณาใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ความยั่งยืน (sustainability) และนวัตกรรม (Innovation)

“ปัจจุบันมูลค่าการส่งออก อาหารแห่งอนาคตของไทยอยู่ที่ 140,000 ล้านบาท ในส่วนของ สอวช. เราทำงานร่วมกับสมาคมการค้าอาหารแห่งอนาคตไทย และ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป  เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการวิจัย นวัตกรรม และความร่วมมือสำหรับอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อความสามารถในการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังเพื่อความยั่งยืนและความยืดหยุ่นของระบบอาหารในระดับภูมิภาคและนานาชาติด้วย นอกจากนี้ยังสามารถสร้างการรับรู้อาหารแห่งอนาคตของไทย ผ่านภาพยนตร์ไทย, ร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ, สตรีทฟู้ด หรือแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐ ซึ่งเป็นนโยบายซอทฟ์พาวเวอร์ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้หากสามารถพัฒนาได้ทั้งระบบ เป้าหมายการส่งออก Future food ให้ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 350,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 นั้น เป็นไปได้อย่างแน่นอน ” ผู้อำนวยการ สอวช.กล่าว

ด้านนางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. กล่าวถึงความท้าทายของประเทศไทย ต่อการปรับตัวกระบวนการผลิตอาหารแห่งอนาคต ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ดังนั้นในระดับนโยบายเราต้องดูว่า จะทำอย่างไรที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มุ่งไปสู่การผลิตอาหารแห่งอนาคตเพิ่มมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ สอวช.ดำเนินการคือกำหนดกลยุทธ์ และให้ความรู้โดยการนำ การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) เข้าไปช่วยส่งเสริมในกระบวนการผลิต  งานวิจัยต้องมีความสำคัญมากขึ้นในเรื่องการปรับตัว กระบวนการผลิต

“ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหาร สิ่งที่ท้าทายคือเราจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาอาหารนวัตกรรมใหม่ หรือ novel food เช่น แมลง ที่เรากินกันมานาน สาหร่าย จอก แหน ซึ่งมีอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมากนั้น มาทำให้เกิดเป็นอาหารแห่งอนาคต เพื่อส่งออกได้อย่างไร  ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมนโยบายบีซีจี ลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในส่วนของ สอวช.ในฐานะหน่วยงานทำนโยบายก็เสนอให้นำ อววน. ลงไปช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิต ให้ได้มากขึ้นและมีมาตรฐานะในระดับส่งออก นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ส่งออกอาหารแห่งอนาคตให้ได้ตามเป้าหมายคือ 350,000 ล้านบาทภายในปี 2570” นางสาวสิรินยา ย้ำ 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากประเทศต่าง ๆ โดยอ้างผลการประชุม UN Summit ที่เน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นในการสร้างระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เนื่องจากระบบอาหารมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องเป็นส่วนหนึ่งในการและจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยสร้างระบบอาหารที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการแปรรูปอาหาร บรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อลดการใช้ที่ดิน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่ไม่ยั่งยืนในการผลิตอาหารและการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญ ปลุกกระตุ้นให้มีการ “ดำเนินการอย่างเข้มข้นและรวดเร็วขึ้น” เพื่อจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและมุ่งมั่นที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2583 สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และปี 2593 สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

เรื่องล่าสุด