×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “คัมภีร์นิยามอาชีพ” สอวช. จับมือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ร่วมนำเสนอร่างนิยามอาชีพและอุตสาหกรรมสาขาวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับการจัดประเภทมาตราฐานอาชีพสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

“คัมภีร์นิยามอาชีพ” สอวช. จับมือกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ร่วมนำเสนอร่างนิยามอาชีพและอุตสาหกรรมสาขาวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับการจัดประเภทมาตราฐานอาชีพสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ

วันที่เผยแพร่ 19 กรกฎาคม 2023 412 Views

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างนิยามอาชีพและอุตสาหกรรม สาขาวิทยาศาสตร์และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมนำเสนอร่างนิยามอาชีพต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บ รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล สถิติด้านแรงงาน และการเปรียบเทียบหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพทั้งในและระหว่างประเทศ ตามภารกิจของกระทรวงแรงงานในการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพของประเทศไทย

ในการประชุมครั้งนี้ สอวช. ได้นำเสนอร่างนิยามอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 14 อาชีพ ประกอบด้วยอาชีพนักชีวเคมีและชีวโมเลกุล นักเทคโนโลยีชีวภาพ นักวิเคราะห์สรีรวิทยาพืช นักวิเคราะห์เชื้อเพลิงชีวมวล นักวิเคราะห์ด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการเติบโตของพืช นักฟิสิกส์ชีวภาพ นักวัสดุศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์การอาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและสร้างสรรค์ นักโภชนาการ นักพัฒนาเทคโนโลยีด้านการถนอมอาหาร และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ โดยนิยามอาชีพดังกล่าวมีการปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องตามหลักวิชาชีพสากล ที่อ้างอิงจากฐานข้อมูลสำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. BUREAU OF LABOR STATISTICS) เครือข่ายสารสนเทศการประกอบอาชีพ (O*NET) ตลอดจนการหารือร่วมกับนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญในสถาบันต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน

ทั้งนี้ ในกระบวนการแก้ไขปรับปรุงนิยามอาชีพนั้น สอวช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการต่อยอดการกำหนดนิยามอาชีพให้เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดคุณลักษณะวิชาชีพ ตลอดจนการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะ สมรรถนะที่ตอบโจทย์ในวิชาชีพนั้น ๆ และสามารถเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะและยกระดับศักยภาพบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) และการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาประเทศ

เรื่องล่าสุด