×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ครม. เห็นชอบระเบียบร่วมทุนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ช่วยหนุนระบบนิเวศนวัตกรรม สร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก

ครม. เห็นชอบระเบียบร่วมทุนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ช่วยหนุนระบบนิเวศนวัตกรรม สร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก

วันที่เผยแพร่ 11 กรกฎาคม 2023 654 Views

(11 กรกฎาคม 2566) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. ….

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ระเบียบฯ ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. ซึ่งระเบียบฯ นี้ จะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่เด่นชัดในแง่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยเกษตรกรและชุมชน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มรายได้และโอกาสจากการนำผลงานวิจัยไปเป็นฐานในการผลิตและบริการ เพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (Innovation-driven Enterprise : IDE) สตาร์ทอัพ หรือกลุ่ม Smart SME อีกทั้งยังช่วยในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศให้มีความพร้อม สามารถสร้างขีดความสามารถและอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานในระบบนิเวศนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) ช่วยขับเคลื่อนการสร้าง IDE เพื่อให้เป็นเสมือน New Growth Engine ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่เป้าหมายร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ตามที่ได้ตั้งไว้

“ระเบียบว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ จะเป็นเครื่องมือชั้นดีที่จะเข้าไปช่วยหนุนระบบนิเวศนวัตกรรม การขับเคลื่อน IDE ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย ภายในปี 2570 รวมถึงช่วยขับเคลื่อนการเพิ่มการลงทุน R&D ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจไทยแข่งขันได้ในระดับโลก และทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยขยับขึ้นไปแข่งขันในส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น จากการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเป็นตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ยานยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเพื่อการเกษตร การแพทย์และสุขภาพ อาหารเชิงฟังก์ชัน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สอวช. ได้ดำเนินการผลักดันการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีเกิดการร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก University Holding Company ผ่านการจัดทำนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ University Holding Company ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ การจัดทำแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ในการพิจารณาจัดตั้งและดำเนินการ University Holding Company ให้กับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐที่สนใจ

เรื่องล่าสุด