×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่าง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย

สอวช. เป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่าง กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย

วันที่เผยแพร่ 30 สิงหาคม 2022 431 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) เป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย และเวียดนาม (CLTV) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 จัดโดย คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้โครงการความร่วมใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศ CLTV (South-South and Triangular Collaboration Programme on Science, Technology and Innovation among Cambodia, Lao PDR, Thailand and Viet Nam) ได้รับเกียรติจาก Ms. Armida Salsiah Alisjahbana, Under-Secretary-General of the United Nations and Executive Secretary of United Nations ESCAP เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม 60 คน จาก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย จัดขึ้น ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร และการประชุมผ่านระบบออนไลน์

วัตถุประสงค์หลักของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อเป็นการพบปะและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้จัดทำนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทั้งในไทยและต่างประเทศ ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมองถึงศักยภาพ ขีดความสามารถในการนำความรู้ด้าน วทน. เข้ามาจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพื่อเลือกสมรรถนะด้าน วทน. ที่มีศักยภาพ ในการนำไปพัฒนาหรือยกระดับภายใต้โครงการความร่วมใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้าน วทน. ระหว่างประเทศ CLTV โดย สอวช. มีบทบาทในการกำหนดและสนับสนุนการพัฒนาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ วทน. เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการประสานงาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้าน วทน. ทั้งของไทยและระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง 5 ประเด็นสำคัญที่จะมุ่งเป้าสร้างความร่วมมือในด้าน วทน. ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy), ทุนมนุษย์ (Human capital), เกษตรกรรม (Agriculture), เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Circular & Green economy), ความร่วมมือของภาคเอกชน (Private sector collaboration)

สำหรับความสำคัญของความร่วมมือ ใต้-ใต้ (South-South Collaboration) เป็นการช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ที่สามารถร่วมกันแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะสามารถปรับเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนามีเสียงและมีพลังที่มากขึ้นในเวทีโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกต้องประสบกับความท้าทายมากมาย ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการระบาดของโควิด–19 นอกจากนี้ ความร่วมมือใต้–ใต้ ยังเป็นพลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในช่วงเช้าวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ยังได้จัดให้มีการลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้มีการบรรยาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น การนำเสนองานวิจัยที่เป็นความร่วมมือแบบใต้-ใต้ รวมทั้งแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงาน รวมถึงได้เยี่ยมชมศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง (Nanoparticles and Cosmetics Production Plant) และศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ในช่วงบ่าย ผู้แทนจาก 4 ประเทศ และจาก UN ESCAP ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมทรู ดิจิทัล พาร์ค พื้นที่ทำงานที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์แบบสำหรับสตาร์ทอัพแห่งแรกในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีกลุ่มผู้ใช้งานจากหลากหลายประเภทธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์, โซเชียลแพลตฟอร์ม, EnterprisePlatform, อี-คอมเมิร์ซ, หุ่นยนต์ รวมถึงธุรกิจสายเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ฟินเทค, ทราเวลเทค, มาร์เก็ตติ้งเทค, พร็อพเทค (PropTech) และ AgriTech ในปัจจุบันมีบริษัท Startup SME และ VC เข้าใช้บริการทรู ดิจิทัล พาร์ค มากถึง 1,400 ราย และทำให้เกิดยูนิคอร์น (Unicorn) หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ รวม 4 ราย

Tags:

เรื่องล่าสุด