×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. หนุนการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แนะมองเป้าหมายการพัฒนาคนระดับอุดมศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

สอวช. หนุนการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต แนะมองเป้าหมายการพัฒนาคนระดับอุดมศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

วันที่เผยแพร่ 23 พฤษภาคม 2022 794 Views

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเวทีเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ทิศทางและระบบการพัฒนากำลังคนของประเทศ” ในงาน “BRAINPOWER THAILAND 2022” บุญเปิดบ้านแปงเมือง สร้างคนข้ามพรมแดน สู่อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต” ที่จัดโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภูมิภาค เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานของ บพค. เชื่อมโยงไปสู่แนวทางการบริหารจัดการทุนจากแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566-2570 อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของเครือข่ายการพัฒนากำลังคนในระบบนิเวศ ววน. ของประเทศไทยด้วย

ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายของประเทศและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญกับ 3 เศรษฐกิจ เศรษฐกิจแรกที่เป็นเศรษฐกิจกระแสหลักคือ เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เศรษฐกิจส่วนที่สองที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญของจีดีพี และเศรษฐกิจสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือเศรษฐกิจท้องถิ่น

การจะขับเคลื่อนทำให้ทั้ง 3 เศรษฐกิจนี้ได้นั้น ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับ 3 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกคือการขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีให้ได้ 12,500 เหรียญสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 7,000 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี และเมื่อคิดเป็นรายได้รวมของประเทศ จะต้องทำรายได้ให้ได้ 27.33 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท จึงต้องไปคิดต่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ได้อย่างไร เรื่องต่อมาที่ไทยจะต้องเผชิญในทางเศรษฐกิจคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่ง บพค. มองเห็นความสำคัญในการพัฒนากำลังคนในด้านนี้ หากมีตลาดซื้อขายคาร์บอนก็จะต้องมีคนที่สามารถทำเรื่องการรับรองมาตรฐานของคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี และต่อไปจะมีเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen Economy) เป็นต้น ในมุมของ ดร. กิติพงค์ มองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าด้วย คือเป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ แต่ไม่มีกำลังคนเพียงพอ จึงต้องมีการพัฒนากำลังคนรองรับเพื่อให้ประเทศสามารถอยู่รอดได้ สำหรับเรื่องที่สาม เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy ในเรื่องการขับเคลื่อน Social Mobility ที่มองถึงการยกสถานะของคนที่อยู่ฐานรากขึ้นมา ตั้งแต่การยกสถานะทางเศรษฐกิจ และยกสถานะทางด้านอื่นๆ เช่น ด้านสังคม ความรู้ การศึกษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ด้านการดำเนินงาน ประเทศไทยได้เลือกเรื่องที่จะขับเคลื่อนในการนำไปปฏิบัติจริง เช่น บีซีจี, อุตสาหกรรมขั้นแนวหน้า (Frontier Industry) ที่แม้จะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่จะเกิดผลในอนาคต ที่จะมีเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Technology) เช่น อวกาศ, ซินโครตรอน, ฟิสิกส์พลังงานสูง, ควอนตัม, โอมิกส์ เป็นต้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อมการสร้างคนเอาไว้ เพราะการใช้เฉพาะโครงสร้างเดิม คนเดิม ผู้เล่นเดิมไม่เพียงพอ ต้องสร้างผู้เล่นใหม่ๆ ขึ้นมา ในอดีตประเทศไทยอาศัยกลุ่ม SME หรือบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อน แต่ในปัจจุบันเรากำลังมุ่งเน้นไปที่บริษัทฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise: IDE) ที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการมองถึงเป้าหมายของการพัฒนาคนในระดับอุดมศึกษา ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในขณะนี้กระทรวง อว. มีแนวทางที่เข้ามาสนับสนุน เช่น การจัดการศึกษาที่แตกต่างออกไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox การจัดทำหลักสูตรที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำงานจริง เจอประสบการณ์จริง สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ทันทีโดยอาจไม่ต้องเรียน 4-5 ปีอย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังพยายามทำเรื่องธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เรื่องการเรียนที่เป็นหน่วยการเรียนรู้แบบ Module ซึ่งเป็นเทรนด์รูปแบบใหม่ของการจัดการศึกษาที่จะทำให้การไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคนในอนาคตเปลี่ยนไปด้วย

ในการแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดตั้ง Consortium เพื่อพัฒนากำลังคนสู่อุตสาหกรรมขั้นแนวหน้าในอนาคต ดร. กิติพงค์ ให้ความเห็นว่า อยากให้การจัดตั้ง Consortium เป็นการรวมตัวกันเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องให้ได้อย่างจริงจัง ให้แต่ละภาคส่วนที่เข้าร่วมเหมือนเป็นหุ้นส่วนในการทำงานกันจริงๆ โดยจะต้องมีกลไกการบริหารจัดการในส่วนนี้ เช่น หากพูดเรื่องการวิจัยขั้นแนวหน้าหรือเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า ต้องมองไปถึงผลที่จะเกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้วย อย่างการทำควอนตัมเทคโนโลยี จะต้องมีทั้งนักกฎหมาย นักอุตสาหกรรม หรือคนทำเรื่องธุรกิจเข้ามาร่วม ให้เป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary) จากคนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่ติดกับดักระหว่างทาง

“เมื่อพูดถึงการออกจากประเทศกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เราต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า ในการทำ Consortium พัฒนากำลังคนด้านนี้จึงถือเป็นแหล่งสร้างคนที่มีความรู้เอาไว้รองรับอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกัน Consortium และ บพค. ก็จะต้องมองถึงแนวทางที่จะดึงดูดคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งใจจะทำงานตรงนี้ให้มองเห็นโอกาสการทำงานในระยะยาว อีกทั้งต้องแสดงให้คนทั่วไปเข้าใจว่าอุตสาหกรรมในอนาคตเป็นอีกหนึ่งศักยภาพที่คนไทยมีและสามารถพัฒนาให้เติบโตขึ้นไปได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว

เรื่องล่าสุด