×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เผย ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ด้วยคะแนน 525 เสียง

สอวช. เผย ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ด้วยคะแนน 525 เสียง

วันที่เผยแพร่ 25 กุมภาพันธ์ 2021 351 Views

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อว.) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เสนอวาระเร่งด่วน ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … โดยที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 525 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง พร้อมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … จำนวนทั้งสิ้น 49 คน

โดยร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … เป็นหนึ่งในกฎหมายเพื่อการปฏิรูประบบวิจัย นวัตกรรมของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐไปใช้ประโยชน์ และช่วยแก้ปัญหาการตกลงเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับผู้รับทุน โดยกำหนดให้ผู้รับทุนสามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นได้ และเมื่อหน่วยงานผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยให้ Startup และ SME สามารถรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดจำนวน Startup และ SME ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมได้ อีกทั้งยังช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัย ผลิตผลงานวิจัยฯ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคผลิตและบริการ

“ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … สอวช. และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีที่ช่วยผลักดัน และขอบคุณสมาชิกรัฐสภาทุกท่านที่ให้การสนับสนุน กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวคือ เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้โอกาสเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดบริษัทธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่แยกตัวออกจากมหาวิทยาลัยและมีนักวิจัยเข้าร่วม (Spin-off)  เกิดธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สร้างงาน สร้างเงิน และสร้างรายได้ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีรายได้กลับคืนสู่รัฐในรูปภาษีมากขึ้น ซึ่งสามารถนำกลับมาสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้แก่ประเทศต่อไปได้อีก รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้รับทุนในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนกระตุ้นให้หน่วยงานผู้รับทุนสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีกด้วย” ดร. กิติพงค์ กล่าว

หลักการ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….”

1. ให้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ ให้เป็นของผู้รับทุน ซึ่งได้แก่ สถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิจัย เป็นส่วนใหญ่

2. หน่วยงานให้ทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายฉบับนี้ มีอยู่ 7แห่ง ได้แก่ หน่วยงานให้ทุนภายใต้กระทรวง อว. จำนวน 5 แห่ง และภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 แห่ง (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือ สวก.) และ กระทรวงสาธารณสุข 1 แห่ง (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส.)

3. กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช้บังคับกับ การวิจัยเพื่อพัฒนาหน่วยงาน, การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยและมั่นคงของประเทศ, การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวม ซึ่งไม่สมควรตกเป็นของผู้ใดผู้หนึ่งเป็นการเฉพาะ และ การวิจัยและนวัตกรรมที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

4. หน่วยงานผู้รับทุนจะต้องทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมยื่นแผนการใช้ประโยชน์ ขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม แก่หน่วยงานให้ทุนเพื่อออกหนังสือรองรับสิทธิความเป็นเจ้าของให้แก่ผู้รับทุน

5. ผู้รับทุนที่ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ แล้ว จะต้องใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี และต้องรายงานผลการใช้ประโยชน์ให้หน่วยงานผู้ให้ทุนทราบ

6. หากผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ ไม่ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะตกกลับมาเป็นของหน่วยงานให้ทุน

7. หากผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยฯ ไม่ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 2 ปี และมีผู้ต้องการขอใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้น จะมีคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เป็นผู้ออกคำสั่งให้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิไปยังผู้ขอใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นได้

8. รัฐยังคงมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นได้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย 9. ในภาวะสงครามหรือในภาวะฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็น เพื่อการเยียวยาด้านสาธารณสุข หรือความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ หรือมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐยังคงสงวนสิทธิเพื่อการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี

Tags:

เรื่องล่าสุด