×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “สุวิทย์” เสนอกระบวนทัศน์ 7 ขยับปรับเปลี่ยนโลกสู่วาระขับเคลื่อนประเทศ ชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ถูกบรรจุไว้ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว ด้าน สอวช. ชูธงนำนโยบายเชิงสังคมแก้วิกฤต สร้างสมดุลอย่างยั่งยืน ย้ำต้องปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว

“สุวิทย์” เสนอกระบวนทัศน์ 7 ขยับปรับเปลี่ยนโลกสู่วาระขับเคลื่อนประเทศ ชี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ถูกบรรจุไว้ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว ด้าน สอวช. ชูธงนำนโยบายเชิงสังคมแก้วิกฤต สร้างสมดุลอย่างยั่งยืน ย้ำต้องปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว

วันที่เผยแพร่ 30 เมษายน 2020 440 Views

ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภาพอนาคตประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด 19 ผ่านการประชุมออนไลน์ นำเสนอเปเปอร์ “โลกเปลี่ยน คนปรับ ความพอเพียงในโลกหลังโควิด” โดยมีผู้เข้าประชุมจากหลายภาคส่วน ทั้งเครือข่ายนักวิจัย ภาคสังคม มหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อสารมวลชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้แลกเปลี่ยนถึงบทความในหนังสือเรื่อง “โลกเปลี่ยน คนปรับ ความพอเพียงในโลกหลังโควิด” ที่ได้เขียนขึ้นมาด้วยตัวเอง โดยหยิบยกประเด็นความไม่สมดุลทั้งมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ และข้อพึงระวังที่ต้องร่วมกันหลุดพ้นเพื่อจะนำพาประเทศและประชาคมโลกไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการเสนอทางออกของประเทศผ่านการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาจาก “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความทันสมัย” (Modernism) เป็น “โลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน” (Sustainism) ที่เน้นความคิดฐานรากแบบ “การผนึกกำลังร่วม” แทนการยึดตนเองเป็นที่ตั้ง เพราะเชื่อว่าเมื่อความคิดฐานรากเปลี่ยน โครงสร้างเชิงระบบก็จะถูกปรับ และความคิดฐานรากที่ถูกต้องภายใต้การผนึกกำลังกันจะทำให้เกิดการบูรณาการในระบบ เมื่อระบบต่าง ๆ ถูกบูรณาการ โลกที่ไร้สมดุล ก็จะค่อย ๆ ถูกปรับเป็น โลกที่สมดุล อันจะนำมาสู่สันติสุขและความมั่นคง ในขณะที่ความเสี่ยงและภัยคุกคามก็จะถูกลดทอนลง และโลกที่สมดุลนี่เองที่จะนำพาพวกเราไปสู่พลวัตความยั่งยืนแทนวิกฤตซ้ำซากและวิกฤตเชิงซ้อน อย่างที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ดร. สุวิทย์ กล่าวว่า ในมุมของตนเอง โควิด 19 เป็นตัวเร่งการปรับเปลี่ยน ก่อให้เกิดการขยับปรับเปลี่ยนโลก 7 ประการ คือ ขยับที่ 1 จาก โมเดลตลาดเสรี สู่ โมเดลตลาดร่วมสร้างสรรค์ ขยับที่ 2 จากการผลิตและการบริโภคที่มุ่งเน้นการแข่งขันให้กับตน สู่การผลิตและการบริโภคที่มุ่งเน้นการผนึกกำลังความร่วมมือ ขยับที่ 3 จากการมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สู่ การมุ่งเน้นที่ขับเคลื่อนที่สมดุล ขยับที่ 4 จากชีวิตที่ร่ำรวยทางวัตถุ สู่ ชีวิตที่รุ่มรวยความสุข ขยับที่ 5 จากเศรษฐกิจเส้นตรง สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ขยับที่ 6 จากระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สู่การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ ขยับที่ 7 จากการตักตวงผลประโยชน์จากส่วนรวม สู่การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม

“โควิด 19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งของมนุษยชาติ อันที่จริงแล้ว “7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกขยับล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนหลักคิด ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัญหาคือพวกเราเพียงแค่ตระหนักรู้ แต่ไม่ได้ลงมือทำ ในโลกหลังโควิด มนุษย์จะอยู่รอดได้ เราต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในโลกก่อนโควิด เรามองตัวเองเป็นเพียงพลเมืองของประเทศ มุ่งเน้นสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ให้กับประเทศ แต่ ณ วันนี้ ในโลกหลังโควิด เราต้องร่วมกันฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้น เราต้องเป็นทั้งพลเมืองของประเทศและเป็นพลเมืองของโลกในเวลาเดียวกัน โดยผมมีแนวคิดในการเสนอวาระขับเคลื่อนประเทศ เตรียมพร้อมสู่โลกหลังโควิด ผ่านการชูบีซีจี โมเดล เป็นคานงัดสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไป ถึงเวลาที่ต้องทบทวนยุทธศาสตร์ประเทศว่ายังควรใช้แผนเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ บริบทโลกในปัจจุบันการดิสรัปชั่นไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีการดิสรัปชั่นเรื่องความเสี่ยงและภัยคุกคาม ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อมิติเศรษฐกิจ ตลอดจนมิติทางสังคมของประเทศด้วย เพราะฉะนั้น เราควรเร่งทบทวนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ผ่านการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาชุดใหม่ของประเทศ ซึ่งผมเสนอเรื่อง 7 ขยับปรับเปลี่ยนโลก และนำมาจัดทำเป็นพิมพ์เขียวยุทธศาสตร์ประเทศ และนำสู่วาระขับเคลื่อนการปฏิรูปที่มุ่งผลลัพธ์การขับเคลื่อนที่สมดุล ทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขของสังคม การรักษ์สิ่งแวดล้อม และภูมิปัญญาของมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งการเติบโตอย่างยั่งยืน การแบ่งปันความมั่นคง และการมีสันติภาพที่ถาวร” ดร. สุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง โดย ดร. กิติพงค์  พร้อมวงค์  ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวอช.) ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า การแก้วิกฤตการณ์ต่างๆ รวมถึงโควิด 19 จะแก้โดยใช้เพียงเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแก้ด้วยการปลูกฝังจากภายในจากจิตวิญญาณ  โดยอาศัยนโยบายเชิงสังคมที่ต้องลงไปถึงหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคมอย่างครอบครัว ที่จะนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนท่าทีหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องสั่งสมตั้งแต่วัยเด็ก บ่มเพาะจนเกิดเป็นนิสัย เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ย่อมส่งผลต่อลูกหลานในอนาคต เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับให้ถูกต้องแต่ต้น นโยบายต้องลงลึกถึงระดับครอบครัว ซึ่งเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวช่วยแก้สิ่งที่คนได้รับการปลูกฝังไม่ได้

“กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ไม่ใช่แค่กระทรวงด้านวิทยาศาสตร์ แต่เรามีคณาจารย์ บุคลากรด้านการอุดมศึกษาที่มีศักยภาพทั้งด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ที่จะมาช่วยบูรณาการความคิดแบบข้ามศาสตร์เพื่อมาร่วมหาแนวทางที่จะนำมาซึ่งความปกติสุขของประเทศหลังวิกฤตการณ์โควิด นอกจากนี้ ในส่วนการทำนโยบายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของประเทศ ก็ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ต้องเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แค่เพียงการสนับสนุน ให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดแรงจูงใจเท่านั้น เพราะการสร้างแรงบันดาลใจจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจากภายในที่จะส่งผลออกมายังพฤติกรรมมากกว่าการใส่ตัวเงินหรือผลประโยชน์” ดร. กิติพงค์  กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด