×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » คลังสมองหญิงแกร่งแห่ง สอวช. “พี่บ๊อบ – รติมา เอื้อธรรมาภิมุข”

คลังสมองหญิงแกร่งแห่ง สอวช. “พี่บ๊อบ – รติมา เอื้อธรรมาภิมุข”

วันที่เผยแพร่ 30 มีนาคม 2020 628 Views

ตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้นำเสนอเรื่องราว ของ 3 หญิงแกร่ง ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ประเทศกันไปแล้ว เดินทางมาถึงการนำเสนอ คลังสมองหญิงแกร่งแห่ง สอวช. สัปดาห์สุดท้าย ด้วยหญิงแกร่งผู้มีหลากหลายทักษะอย่าง “พี่บ๊อบ – รติมา เอื้อธรรมาภิมุข รองผู้อำนวยการ สอวช.” ที่พร้อมจะนำความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี มาสร้างสรรค์ระบบ เพื่อ Support การทำนโยบายที่จะส่งต่อให้กับประเทศ โดยพี่บ๊อบได้นิยามการทำงานเบื้องหลังว่า “พี่เน้นการทำงานให้เป็นระบบ เพราะระบบ Back Office คือหัวใจสำคัญ ดังนั้น ถ้าทำให้หัวใจเต้นเป็นระบบตั้งแต่ต้น ระบบไหลเวียนก็จะ flow ไปได้ทั่วร่างกาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทันเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการวางระบบของสำนักงาน”

การสัมภาษณ์ครั้งนี้ เป็นการสัมภาษณ์ผู้อยู่เบื้องหลังของเบื้องหลังการสร้างสรรค์นโยบายของประเทศ หรือเรียกว่าผู้ดูแลระบบ Back Office ของหน่วยงานด้านนโยบายอย่าง สอวช. นั่นเอง แต่ก่อนจะพูดคุยเรื่องงานที่พี่บ๊อบรับผิดชอบดูแลอยู่นั้น เรามาเริ่มด้วยการพูดคุยถึงชีวิตวัยเด็กของพี่บ๊อบ ที่เป็นครอบครอบครัวที่มีพี่น้องเป็นหญิงล้วนทั้ง 5 คน ตัวพี่บ๊อบเป็นลูกคนที่ 4 โดยที่บ้านทำธุรกิจส่งออกกล้วยไม้ ซึ่งคุณพ่อจะฝึกให้ลูก ๆ ทุกคนทำงานช่วยที่บ้านตั้งแต่ยังเด็ก และจะปลูกฝังเรื่องการคิดเป็นระบบ กลไก รวมทั้งจะส่งเสริมให้ลูก ๆ อ่านหนังสือ พวกสารานุกรมโลกของเรา จึงทำให้เวลาว่างพี่บ๊อบมักหยิบหนังสือเหล่านั้นมาอ่านจนเป็นหนังสือเล่มโปรด ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โลกและนอกโลก เพราะนอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังได้ฝึกภาษาไปด้วยในตัวด้วย และก็อาจจะเป็นที่มาอย่างหนึ่งว่าทำไมพี่บ๊อบถึงสนใจเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเด็ก

“พี่ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณพ่อ ในเรื่องการทำงานที่เป็นระบบ การมีวินัย พี่ได้ซึมซับจากคุณพ่อเวลาทำงาน ทั้งเห็นด้วยตา และได้ลงมือสัมผัสผ่านการช่วยงานที่บ้านด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งคุณพ่อพยายามให้เรามีส่วนร่วมกับการทำงานของคุณพ่อเสมอ ตั้งแต่พี่อยู่ ป. 3 เพื่อฝึกเราไปในตัวด้วย และคุณพ่อจะสอนให้ลูกทุกคนเป็นคนกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด ซึ่งถ้าถามเรื่องการเรียนแล้วพี่ไม่ใช่คนที่มีผลการเรียนโดดเด่น แต่จะเป็นคนกล้าพูดกล้าแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน กล้าที่จะเข้าหาพูดคุย ถามข้อสงสัยกับคุณครูเป็นประจำ ไม่ถามแค่ในห้องนะ เดินเข้าไปหาคุณครูในห้องพักครูบ่อยมาก ซึ่งพี่คิดว่าเป็นความรู้นอกเหนือจากในห้องเรียนที่พี่ได้รับจากคุณพ่อ ส่วนที่พี่ได้จากคุณแม่จะเป็นเรื่องการคิดบวก และการเห็นคุณค่าในตัวคน  คุณแม่พี่เป็นคนชอบพูดคุยกับเพื่อนบ้าน คุยสนุก ใครๆ ก็อยากคุยด้วย สิ่งที่พี่เห็นมาตลอดเวลาคือ ต่อให้คุณแม่ดุหรือเตือนลูกในสิ่งที่ลูกทำไม่ถูกต้องในบ้าน แต่สิ่งที่แม่บอกเพื่อนบ้านเกี่ยวกับลูกคือข้อดีของลูกๆ ทุกคน ซึ่งคือการคิดบวกของคุณแม่ และทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนล้วนมีสิ่งดี อยู่ที่เราจะมองคนๆ นั้น  สิ่งที่เขาดุหรือเตือนเพราะเขาคงรู้สึกว่าขอให้แม่เป็นคนดุหรือเตือนดีกว่าให้ใครมาว่าลูกตัวเอง”

พี่คิดว่าพี่โชคดีที่พี่ได้การผสมผสานจากคุณพ่อที่สอนให้มองเป็นระบบและมีแผนล่วงหน้าเพื่อรองรับเรื่องราวต่างๆ ตลอดเวลา และได้เรื่องการมองคุณค่าในตัวว่า คนทุกคนล้วนมีความเก่งมีความสามารถ อยู่ที่เราจะเห็นความเก่งหรือความโดดเด่นในคนๆ นั้นได้อย่างไร เป็นสิ่งที่พี่ได้จากคุณแม่

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย พี่เรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ที่เลือกเรียนคณะนี้ เพราะส่วนตัวก็สนใจเรื่องสังคม การเมือง ชอบดูข่าว และครูแนะแนวก็บอกว่าเราทำคะแนนวิชาด้านสังคมค่อนข้างดี เลยแนะนำให้เรียนทางรัฐศาสตร์ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจบมาแล้วจะไปทำอะไรนะ แต่ก็ตั้งใจเรียนไปพร้อมกับทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย เป็นสายลุย สายกิจกรรม มีกิจกรรมเยอะ และยังได้มีโอกาสเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัย ซึ่งพี่ก็เลือกเล่นกีฬาที่คนส่วนใหญ่เขาไม่เล่นกัน คือ กีฬาดาบสากล และได้โอกาสไปแข่ง KU Open ไปเป็นคู่ซ้อมให้กับรุ่นพี่ที่กีฬามหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย

“การเรียนในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ สำหรับพี่ก็สนุกดี มีการวิเคราะห์รูปแบบของการเมืองประเภทต่าง ๆ ได้เสนอความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนเปลี่ยนพูดคุยประเด็นต่าง ๆ ในห้องเรียน ส่วนกิจกรรมมหาวิทยาลัยพี่เลือกเล่นกีฬาดาบสากล เพราะพี่จะไม่ค่อยชอบทำอะไรที่มีคนทำเยอะแล้ว เราจะมองมุมต่าง เราพยายามทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยทำกัน จึงเลือกเล่นกีฬาดาบสากล และก็ได้มีโอกาสเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยด้วย แต่การเลือกเล่นกีฬา หรือเลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ ของพี่ที่บอกว่าไม่ค่อยชอบทำอะไรที่มีคนทำเยอะแล้ว ไม่ได้หมายความว่าอยากทำเพราะความต่างนะ แต่ความต่างที่พี่เลือกจะทำนั้น พี่ต้องมีแผนรองรับแล้วว่าพี่สามารถทำได้จริง”

พี่บ๊อบเล่าต่อถึงการทำงานที่แรกหลังจากเรียนจบปริญญาตรี ด้วยการทำงานที่ไม่ตรงสายเรียน แต่ได้ประสบการณ์ด้านบัญชีและภาษามาแทน โดยได้เริ่มทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสหประชาชาติ ด้านบัญชี และติดตามผู้บริหารไปพบลูกค้า ซึ่งทำงานที่ธนาคารได้ราว 3 ปี ก็ทราบข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดรับสมัครงานและต้องการคนที่จบรัฐศาสตร์ ก็เลยไปสมัคร และได้มีโอกาสทำงานในฝ่าย HR ซึ่งพี่บ๊อบบอกว่า ในชีวิตการทำงานกับสิ่งที่เรียนมาแตกต่างกันสิ้นเชิง แต่วิชาที่ได้นำมาใช้ได้จริงกลับเป็นวิชาพวกปรัญชาที่นำมาต่อยอดเรื่องการ Coaching ได้ โดยพี่บ๊อบทำงานที่ ก.ล.ต. ถึง 11 ปี โดยทำงานในสาย HR 9 ปี เป็น HR ผสมผสานเทคโนโลยี ซึ่งพี่บ๊อบเล่าว่า สมัยนั้น Intranet เพิ่งเริ่มเข้ามา การพัฒนา Intranet ไม่ง่ายเหมือนปัจจุบัน ต้องเขียน code เอง ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ด้าน IT เลย แต่ก็ใช้วิธีหาซื้อหนังสือมานั่งอ่านเอง และขอเวลาเจ้านาย 1 สัปดาห์เพื่อสร้าง Intranet ของฝ่าย นอกจากงานด้าน HR แล้ว ก็มีโอกาสได้มาทำงานฝ่าย MIS หรือ Management information system กองทุนรวม อีกประมาณ 2 ปี ซึ่งระหว่างทำงานที่ ก.ล.ต. พี่บ๊อบยังได้คว้าปริญญาโทมาอีก 2 ใบ จากทุนจาก ก.ล.ต. ด้านการบริหารจัดการไอที ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเรียนต่อปริญญาโท MBA ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์และองค์การ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกหนึ่งใบด้วยทุนส่วนตัว

จากบทสัมภาษณ์เพียงยกแรก ก็สัมผัสได้ถึงความหลากหลายทางสายอาชีพและทักษะของพี่บ๊อบ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานเบื้องหลัง Back office ของแต่ละหน่วยงาน อะไรคือสิ่งที่ทำให้พี่บ๊อบได้รับโอกาสในการทำงานที่หลากหลาย และทำไมพี่บ๊อบจึงฉวยโอกาสเหล่านั้นไว้

“พี่คิดว่าที่พี่ได้มีโอกาสทำงานที่หลากหลาย เพราะตัวพี่เองชอบเห็นอะไรที่มีความแตกต่าง ชอบทำในสิ่งใหม่ และพี่จะไม่ยึดติดว่าเราต้องเอาความรู้ที่เรียนมาไปทำงานด้านที่เรียนมาเท่านั้น มีโอกาสไหนที่พี่สามารถเข้าไปช่วยเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นได้ พี่ก็เลือกที่จะทำ ไม่กลัวที่จะลองสิ่งใหม่ แต่ทั้งหมดที่พี่ทำจะอยู่บนพื้นฐานของการมีแผนรองรับ พี่ต้องรู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ถ้าเกิดปัญหาพี่มีแนวทางรับมืออย่างไร เพราะฉะนั้นการที่พี่ไม่กลัวที่จะลองสิ่งใหม่ นั่นเป็นเพราะว่าพี่มีแผนไว้อยู่แล้ว คิดล่วงหน้าไว้อยู่แล้วว่าถ้าเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นแล้วจะแก้ไขอย่างไร และเชื่อว่าโอกาสผ่านอยู่หน้าเราตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ มีแต่เราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง ”

หลังจากออกจาก  ก.ล.ต. พี่บ๊อบได้ไปทำธุรกิจกับครอบครัว อยู่ประมาณ 3 ปี ก่อนมีคนชวนมาสมัครทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โดยพี่บ๊อบเล่าย้อนให้ฟังถึงช่วงสัมภาษณ์งานที่ สวทน. ว่า ตอนสัมภาษณ์มี ดร. พิเชฐ ดร. ญาดา ดร. กิติพงค์ เป็นคนสัมภาษณ์ โดย ดร. พิเชฐ ถามว่า ทราบหรือไม่ว่า สวทน. คือ หน่วยงานอะไร พี่ก็ตอบว่า พี่ได้อ่าน พ.ร.บ. สวทน. ว่า สวทน. ทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วก็หยิบ พรบ. ให้ ดร.พิเชฐดู ซึ่ง ดร. พิเชฐ บอกว่า พี่เป็นคนแรกที่สัมภาษณ์แล้วอ้างอิงถึง พ.ร.บ. จากนั้นพี่ก็ได้รับคำถามว่า คิดว่าเมื่อมาทำงานตรงนี้แล้ว งานไหนที่เราคิดว่าน่าจะเป็นงานยากมากที่สุด พี่ก็เลยตอบถึงเรื่องการรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่เราควบคุมเองได้ยากที่สุด เพราะช่วงที่เข้ามามีเหตุการณ์ทางการเมืองอยู่ เราเลยคิดถึงความยากของวิธีการควบคุม ดูแลขั้นตอนต่าง ๆ ในการประชุมของสำนักงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เช่น การประชุม กวทน. ว่าเราจะต้องควบคุมดูแลความปลอดภัยให้ดีที่สุดอย่างไร สมัยนั้นปัญหาด้านการเมืองรุนแรงมาก พร้อมปิดสำนักงานได้ตลอดเวลา การทำงานร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกยังมีน้อย เพราะฉะนั้นคิดอยู่ในหัวตลอดเวลาว่าเราต้องเตรียมพร้อมประสาน 10 ทิศแน่นอน

พี่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป ของ สวทน. ในปี 2552 ซึ่งงานแรก ๆ ที่ได้รับมอบหมายคือ เรื่อง e-auction การจัดทำพื้นที่สำนักงาน ซึ่งต้องทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างแบบออนไลน์ ซึ่งพี่ไม่มีประสบการณ์เลย แต่ก็ต้องเรียนรู้ไป จากนั้นก็เริ่มทำเรื่องระบบของสำนักงานเอง ก็เป็นที่มาของการวางระบบ โดยพี่เริ่มดูตั้งแต่ระบบแบบ Opensource (ดีใจมากที่ตอนนั้นตัดสินใจเลือก Opensource เพราะเรากลายเป็นหน่วยงานที่คุ้นชินกับ Platform นี้) และระบบ ERP ที่จะใช้เป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบงานต่าง ๆ ขององค์กรเข้าด้วยกันแบบที่ใช้ในปัจจุบัน โดยแนวคิดที่พี่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญในการวางระบบ คือ ระบบจะสมบูรณ์และเกิดประสิทธิภาพได้นั้น ระเบียบต้องเข้าไปอยู่ในระบบ ไม่ใช่การใส่ระเบียบเข้าไปเป็นข้อ ๆ แต่ต้องเอาไปใส่เชื่อมโยงในระบบให้มีความชัดเจน เพื่อลดการทำงานแบบ Manual ของพนักงานและเกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำงาน Back Office นอกจากการสร้างระบบแล้วคือ การนำไปใช้ นั่นก็คือ คน เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาคนควบคู่ไปด้วย พี่เชื่อในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพคนตั้งแต่จิตวิญญาณ ผ่านการดึงศักยภาพของคนเหล่านั้นออกมา การอบรม เป็นเพียงการฝึกฝนเสมือนเรียนในห้องเรียน แต่จะทำอย่างไรให้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมา

“ถ้าเปรียบระบบ Back Office คือ “หัวใจ” คน หรือบุคลากร ก็คือ ผู้ควบคุมระบบการเต้นของหัวใจ ให้ระบบไหลเวียน flow ไปได้ทั่วร่างกายซึ่งเปรียบเสมือนสำนักงาน เพราะฉะนั้นเราต้องพัฒนาคน โดยดึงศักยภาพของคนออกมาพัฒนาและควบคุมระบบการเต้นของหัวใจให้เกิดประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด โดยการดึงศักยภาพของคนออกมาพี่เชื่อว่าต้องพัฒนาตั้งแต่ระดับจิตใจ วิธีหนึ่งที่พี่เลือกใช้คือ การพัฒนาตัวคนด้วยวิธีการที่เป็นแบบ Coaching หรือ Mentoring พัฒนาคนไปพร้อมๆกับพัฒนาระบบ เพราะคนคือผู้ที่เอาระบบไปใช้ ถ้าคนเอาระบบไปใช้แค่กดเลขอีกหน่อยเครื่องจักรก็ทำได้ แต่ถ้าคนเอาระบบไปใช้โดยที่เขารู้ว่าสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเขาได้อย่างไร แล้วตัวเองก็พัฒนาตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา”

การทำงานที่ สวทน. พี่บ๊อบเล่าให้ฟังว่า เป็นงานที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะงานวางระบบ เพราะแม้จะวางระบบสำเร็จแล้ว ก็มักจะมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบอยู่เสมอ ทำให้ต้องมีแผน ต้องมีระบบ กลไก ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงระบบเสมอ ทั้งแบบ Minor Change หรือ Major Change หรือแบบเปลี่ยนทิศ ไปเลย มันเลยเป็นปฏิกิริยาไปแล้วว่าพี่จะมีการเตรียมรับมืออยู่ตลอดเวลา และตอนนี้ก็มีแผนว่าอยากจะยกเครื่องระบบ ERP ใหม่

“งานที่ท้าทายของพี่ คือ การเปลี่ยนผ่านจาก สวทน. มาสู่ สอวช. เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพิ่มคำว่าการอุดมศึกษาเข้ามา แต่มันคือการเปลี่ยนทั้งระบบ มีทั้งตัว พ.ร.บ. ที่เป็นข้อบังคับ มีทั้งนโยบายที่เราจะต้องรับเรื่องใหม่ ๆ เข้ามา และการรับเรื่องใหม่ ๆ เข้ามา ถ้าเรายังคงใช้ระบบการทำงานแบบเดิม มันอาจจะไม่สามารถทำงานรองรับได้ เราก็เลยต้องมองทั้งระบบว่าเราควรต้องพัฒนาระบบอย่างไร”

อีกงานที่สำคัญ คือ งานด้านการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน ซึ่งเราต้องบริหารงานที่มีมิติกว้างขึ้น เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพตัวระบบจะใช้แบบเดิมไม่ได้ อย่างแรกที่พี่คิดเมื่อทราบว่าจะต้องดูแลระบบ Back Office ให้หน่วยบริหารและจัดการทุน คือ การทำงานร่วมกับหน่วยที่ให้ทุน ก็คือ สกสว. ทำอย่างไรให้ สกสว. และ  สอวช. เอาระบบมาเชื่อมกันให้ได้ จึงมีการทำงาน พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ สกสว. และหน่วยงานให้ทุนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์เรื่องการให้ทุน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ตกหล่นสิ่งใด นี่คือเป้าหมายสำคัญของการทำงานเป็นกองหนุนหน่วยบริหารและจัดการทุนที่พี่ตั้งใจจะเชื่อมระบบที่พัฒนาโดยหน่วยงานที่มีประสบการณ์และระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการให้ทุนรูปแบบใหม่ ซึ่ง สอวช. มั่นใจว่าเราสามารถทำได้

ด้านการบริหารจัดการ พี่ให้ความสำคัญมากกับเรื่องแนวคิดการทำงานด้านบริหารบุคลากรในองค์กรที่มีบุคลากรเพียง 100 คน แต่ต้องสามารถขับเคลื่อนและสร้างสรรค์นโยบายให้กับประเทศได้เทียบเท่ากับการทำงานของบุคลากรจำนวน 1,000 คน นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารตั้งโจทย์ไว้

“หน่วยงานเราทำงานด้านนโยบายระดับประเทศ ถ้ามองการทำงานรูปแบบในอดีตที่ผ่านมา มันเป็นการทำงานที่ใช้ Manual เยอะ แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะตอบสนองได้เท่าทันกับเทคโนโลยี ก็หมายความว่าเราสามารถลดงานที่ใช้ Manual ซึ่งเท่ากับลดเวลาไปได้หลายเท่า ความสามารถของเราก็จะเพิ่มขึ้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับความสามารถแบบ Multi Function ด้วย เพราะฉะนั้น ความก้าวกระโดดที่เข้ามารวดเร็ว ถ้าเราเท่าทัน เราก็สามารถทำได้ ผ่านการพัฒนาระบบด้วยเทคโนโลยี และใช้ทักษะที่เราพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวบุคลากรเป็นผู้ควบคุม ซึ่งพี่เชื่อว่าในตัวของบุคลากรแต่ละคน ทุกคนมีศักยภาพ แต่ส่วนมากศักยภาพของคนจะแสดงออกมาเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้น้ำ สิ่งที่ทีม HR ดูแล คือ การนำศักยภาพของบุคลากรออกมา โดยขับเคลื่อนกันตั้งแต่ระดับจิตวิญญาณ ผ่านการ Coaching ระดับกลุ่ม ไปจนถึงระดับบุคคล เพื่อให้เกิดการพัฒนาตั้งแต่ระดับจิตใจ ให้เขาเชื่อในศักยภาพของตนเอง ซึ่งถ้าเขาสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยี ประสิทธิภาพการทำงานมันได้มากกว่า 10 เท่าอยู่แล้ว และยิ่งเราเป็นหน่วยงานด้านนโยบาย อววน. พี่คิดว่าเราควรเป็นตัวอย่างนำร่องในการดึงศักยภาพของคนออกมา ให้คนได้เห็นว่าศักยภาพของคนเพียง 100 คน สามารถทำเรื่องใหญ่ๆ ได้ ถ้าเราไม่เป็นตัวอย่างคนก็จะขาดความน่าเชื่อถือ”

การ Coaching และการอบรมต่าง ๆ เป็นการพัฒนาจิตใจ และองค์ความรู้ของบุคลากร อีกด้านหนึ่งสำนักงานก็ต้องสร้างค่านิยมองค์กรที่พึงปฏิบัติให้เปรียบเสมือนเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่จะให้บุคลากรใน สอวช. สามารถขับเคลื่อนผลงานด้านนโยบายออกมาได้ตอบโจทย์ประเทศ โดยที่ สอวช. เราเปิดให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการสร้างค่านิยมองค์กร หรือว่า NXPO Values ประกอบด้วย 1. Nation’s Benefits First : Ensure that the Nation’s benefits are the first priority of everyone at NXPO ประโยชน์ของประเทศชาติ มาเป็นอันดับ 1 ในใจของคน สอวช. 2. Xystem Approach with Evidence : Gain insight through evidence, systems thinking and data analytics for effective management and policy formulation เข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยมองความเชื่อมโยงของเรื่องต่างๆ ในระบบ วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ 3. Partnership with Stakeholders : Engage stakeholders as partners in co-creating social and economic values and delivering mutual benefits สร้างสัมพันธภาพที่ดีและคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันของผู้ร่วมงานทุกคนทั้งในและนอกองค์กร และ 4. Open-Minded Agile Learner Be agile and open-minded, to leverage changing environments เปิดใจเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน อย่างว่องไว ทันต่อเหตุการณ์

ค่านิยมเหล่านี้ เราเริ่มต้นมาจากการคิดร่วมกันทั้งผู้บริหารและพนักงานว่าการจะเป็นหน่วยงานนโยบายที่จะขับเคลื่อนนโยบายออกมาเพื่อตอบโจทย์ประเทศได้นั้น ควรต้องมีค่านิยม หรือวัฒนธรรมองค์กรอย่างไรบ้าง และผู้บริหารต้องเป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำที่จะทำให้บุคลากรเห็น อย่างในทุก ๆ การทำงานของพี่ จะแฝงไปด้วย NXPO Values ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทั้งการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การวางระบบโดยผ่านการคิด วิเคราะห์ เชื่อมโยงอย่างมีแบบแผนและมีระเบียบรองรับ ทำงานแบบมีส่วนร่วม ทำงานเป็นทีม และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างพันธมิตร เราต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน และต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาและต้องรู้อย่างเท่าทัน

แม้งานกองหนุนอย่างงาน Back Office จะมีความหลากหลายทั้งเรื่องระบบ ระเบียบ บุคลากร แผนงบประมาณ และการบริหารจัดการสำนักงาน แต่อะไรเป็นเสน่ห์ของการทำงาน Back Office ที่ทำให้พี่บ๊อบยังคงพัฒนางานอย่างมุ่งมั่น

“เสน่ห์ของงาน Back Office ที่ สอวช. คือ การได้สร้างระบบ Support ให้ สอวช. สามารถขับเคลื่อนงานนโยบายให้กับประเทศได้ มันเป็นโอกาสที่ดีของพี่ที่พี่ได้สร้างและได้นำไปใช้จริง พี่จะคิดเสมอว่า เมื่อทีมเราจะสร้างระบบขึ้นมา พี่จะมองระบบที่เราจะสร้างเหมือนเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัย พี่จะมองฟันเฟืองข้างในว่ามันมีกลไกอย่างไร เราควรจะเชื่อมอย่างไร แล้วระบบที่เราสร้างมามันผลิตอะไรออกมาบ้าง อย่างคนที่ทำนโยบาย จะได้นโยบายออกมาเป็นรูปเล่ม เป็นข้อเสนอต่าง ๆ เช่นเดียวกับงาน Back Office ที่ได้สร้างระบบ กลไก ที่สามารถเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการสร้างสรรค์นโยบายเช่นกัน ทั้งเรื่องบุคลากร การเงิน กฎหมาย งบประมาณ IT จัดซื้อจัดจ้าง เลขานุการ บริหารทั่วไป แม้แต่งานสารบรรณที่บางคนอาจละเลย และทำให้ตกม้าตายมานับต่อนับแล้วเพราะคิดว่างานสารบรรณไม่สำคัญ”

เสน่ห์อีกอย่างของงาน Back Office คือการได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร เป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้กับพนักงาน และพนักงานต้องสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด ปลอดภัย และต้องเป็นผู้นำเทคโนโลยี

อย่างตอนนี้ เรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 สอวช. ได้เตรียมการไว้พร้อม เรามีระบบกลไกรองรับให้พนักงานเชื่อมั่นได้ ทั้งเรื่องสุขอนามัย, Social Distancing, การอำนวยความสะดวกในการ work from home เพื่อลดความเสี่ยงด้านการติดเชื้อ, การประชุมออนไลน์ต่าง ๆ, Payroll on Cloud, e – payment การแชร์ไดรฟ์ ต่างๆ เพื่อให้การทำงานในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดยังคงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น Ecosystems ที่สำนักงานเตรียมไว้เรียบร้อย แต่ในระยะยาวแน่นอนว่าสิ่งสำคัญคือต้องดูแลคือเรื่องจิตใจพนักงาน

“อย่างสถานการณ์ COVID-19  สำนักงานเตรียมเครื่องมือไว้พร้อม แต่แน่นอนว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุการณ์วิกฤต หรือโรคอุบัติใหม่เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่เคยมีประสบการณ์ สิ่งที่เราต้องเตรียมนอกจากเครื่องมือที่รองรับแล้ว คือ การปฏิบัติ การลงมือใช้เครื่องมือต่าง ๆ แต่พี่คิดว่าพี่โชคดีมากที่พี่มีน้อง ๆ ในทีมที่เขามีทักษะการทำงาน สิ่งที่ทีมเราทำคือ เราเรียกทีมทุกคนเข้ามาและจัดเรียงระบบการทำงานให้เกิดความเชื่อมโยงกัน เพื่อรองรับความเสี่ยง ทำให้ตอนนี้ทีมพี่มีระบบการทำงานทั้งในสถานการณ์ปกติ และระบบการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมเลือกได้เลยว่าจะหยิบระบบจากลิ้นชักไหนมาทำงาน อันนี้ต้องขอบคุณน้อง ๆ ในทีมมาก ๆ”

พี่บ๊อบเปิดมุมมองเกี่ยวกับการทำงาน Back Office ว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลกระทบต่อประเทศ แม้เป็นงานเบื้องหลังแต่สำคัญเปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยง

“เรามีหน้าที่สร้าง Ecosystems ให้อำนวยความสะดวกต่อการทำนโยบาย ซึ่งจริง ๆ เราก็ทำเสมือนทำนโยบายเหมือนกัน เพียงแต่ scale มันต่างกัน ที่บอกว่าต่างเพราะนโยบายประเทศคือภาพใหญ่ ทำนโยบายในสำนักงานจะภาพเล็กลง แต่เราต้องวางระบบและพัฒนาเครื่องมืออย่างลงรายละเอียดไปถึงในระดับจิตใจพนักงานและครอบครัวพนักงาน และเวลาสำนักงานกำหนดนโยบายขึ้นมา พี่ก็จะคิดตามว่าเรื่องไหนที่ทีมเราพอจะมาจำลองอยู่ในสำนักงานได้บ้าง เช่นเรื่อง AI หรือ Big Data หรือเรื่องมาตรการ กลไกในการออกกฎระเบียบต่าง ๆ พี่ก็ต้องมาคิดแล้วว่าสำนักงานควร Support อะไรเพื่อให้คนทำนโยบายขับเคลื่อนงานได้สะดวก จะต้องมีระเบียบอะไรที่ออกมารองรับกับมาตรการ กลไกที่เขากำลังทำนโยบายอยู่บ้าง เช่น ฝ่ายวิจัยกำลังทำเรื่องการคาดการณ์อนาคตที่ต้องมีการรวบรวมฐานข้อมูล  หน้าที่ของทีม Back Office คือ ระบบที่จะรองรับเรื่องฐานข้อมูลจะเป็นอย่างไร เรื่องนโยบายการพัฒนากำลังคน Reskill – Upskill ถ้าไม่เริ่มจากคนในสำนักงาน แล้วเราจะไปบอกต่อคนอื่นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราต้องคิดต่อ ไม่ใช่แค่วางระบบแล้วงานเสร็จ”

คำถามปิดท้ายกับ Lifestyle ที่พี่บ๊อบพูดไปหัวเราะไป

“พี่เป็นคนมีความหลากหลายในชีวิต ทั้งเล่นกีฬา ศิลปะ เวลาพี่จะทำกิจกรรมอะไร พี่จะแบ่งเป็นการพัฒนาสมองแต่ละซีก คือ ด้านใช้เหตุและผล กับด้านศิลปะ เพราะเราทำงานทั้ง 2 ด้าน Lifestyle พี่จึงทำควบคู่ 2 ด้านไปด้วย

อย่างพี่ไปเล่นกีฬา พี่เล่นแบดมินตัน เพราะได้คิด วางแผน และอยากจะฝึกเรื่องความคล่องตัว ความแม่นยำ ส่วนด้านศิลปะ พี่วาดภาพสีน้ำ เพื่อฝึกสมาธิ โดยเริ่มเรียนเองจากยูทูบ แล้วค่อยมาเรียนเพิ่ม นอกจากนี้ก็มีทำอาหาร ไปซื้อวัตถุดิบเอง คิดเมนู ออกแบบเมนูเอง วันหยุดพี่จะมีกิจกรรมตลอด”

จากบทสัมภาษณ์ พี่บ๊อบ ถือเป็นหญิงแกร่งของ สอวช. อีกท่านที่มีความมุ่งมั่นในการใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ในการพัฒนางานเพื่อประเทศ และเป็นต้นแบบของความทุ่มเทในการทำงานเป็นกองหนุน ซึ่งหญิงแกร่งคนนี้ยังได้ฝากความมุ่งหวังปิดท้ายบทสัมภาษณ์ คลังสมองหญิงแกร่งแห่ง สอวช. ว่า “ปลายทางที่พี่มุ่งหวังอยากเห็นภาพมากที่สุด คือ การได้เห็นภาพของบุคลากรในสำนักงานนำพา สอวช. ให้เป็นที่รู้จัก ด้วยขีดความสามารถและศักยภาพของตัวเองที่สร้างสรรค์นโยบายให้กับประเทศ”

Tags:

เรื่องล่าสุด