×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » คลังสมองหญิงแกร่ง แห่ง สอวช. – ดร. สิริพร พิทยโสภณ

คลังสมองหญิงแกร่ง แห่ง สอวช. – ดร. สิริพร พิทยโสภณ

วันที่เผยแพร่ 23 มีนาคม 2020 1175 Views

“สวย เก่ง มุ่งมั่น” บ่งบอกถึงตัวตนเมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร. สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หรือที่น้อง ๆ ใน สอวช. รู้จักกันในนาม “พี่พร” ยิ่งเมื่อได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งที่พี่พรเล่าว่าอาจารย์ที่ปรึกษาเคยกล่าวกับพี่ว่า “พี่ไม่เคยหลุดออกจากเป้าหมายของพี่ในแต่ละวันเลย” ยิ่งทำให้น่าค้นหาถึงวิธีการทำงานและแนวคิดของหญิงแกร่งคนนี้ บทสัมภาษณ์จะเป็นอย่างไร เราไปติดตามพร้อมๆ กันค่ะ

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่พรในบรรยากาศสบายๆ ด้วยคำถามที่ย้อนกลับไปในวัยเด็กของหญิงแกร่งที่อยู่เบื้องหลังการทำนโยบายประเทศ

“พี่มีพี่น้อง 3 คน มีพี่ชายและพี่สาว ชีวิตในวัยเด็กพี่ค่อนข้างเรียบง่าย และมีคุณแม่เป็นแบบอย่างที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก คือ ค่อนข้างมีวินัย และเป็นต้นแบบของการทำ Multi-Tasking เวลาที่คุณแม่ทำอะไร จะมีการวางแผนอยู่ตลอดเวลา สามารถทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันและเสร็จทันเวลา และสอนให้เรารู้จักรอ รู้จักการรักษาเวลา ในช่วงที่พี่เติบโต คุณพ่อจะทำงานหนักมาก จำได้ว่า พอคุณพ่อยุ่งมาก ๆ พี่จะมีคำถามว่า ทำไมวันนี้คุณพ่อกลับดึกจังเลย คุณแม่ก็จะบอกเรา อธิบายให้เราฟังถึงความจำเป็นว่าทำไมคุณพ่อต้องกลับดึก และพูดให้เห็นภาพว่า คนเรามีสิ่งที่เป็นหน้าที่ แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักเรา วันเสาร์ อาทิตย์ก็ยังได้เจอกันอยู่ ซึ่งพี่ก็จะเข้าใจตรงนั้น และคุณพ่อคุณแม่ก็จะสอนว่า เราต้องมีวินัย ต้องรับผิดชอบ เวลาที่เราทำอะไรผิด เราต้องยอมรับผิด เวลาที่เราทำอะไรได้ดี ก็ไม่ต้องดีใจมาก เราต้องทำความรู้สึกให้เป็นกลาง ๆ ไว้ ไม่ต้องเสียใจและดีใจมาก เพราะทุกอย่างมันไม่มีอะไรที่ถาวร การที่มีความสุข อีกแป๊บเดียวเราอาจจะทุกข์เพราะเรื่องอื่น ๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นให้ยึดความเป็นกลางไว้” นอกจากความมีวินัยที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณแม่เต็ม ๆ แล้ว พี่พรยังได้เล่าถึงคำสอนของคุณพ่อคุณแม่สมัยที่ยังเป็นเด็กที่ยังยึดปฏิบัติและนำมาใช้กับการทำงานจนถึงทุกวันนี้ คือ ให้มีหัวใจเข้มแข็งเป็นสิงโต และให้คอยสังเกตเวลามดทำงานที่มดสามารถยกของใหญ่กว่าตัวได้ ทำไมมดถึงทำได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเจออุปสรรคหรือคิดว่ามันหนักเกินกว่าตัวเรา ให้กลับไปมองมดที่เดินตัวเล็ก ๆ ว่า จริง ๆ แล้ว ยังมีอะไรบางอย่างในโลกนี้ที่เจอหนักกว่าเราเยอะ เพียงแต่เราไม่ได้มอง ถ้าเรามองแต่ตัวเราเองเราจะทุกข์ ให้ลองหันไปมองที่อื่น แต่ถ้านึกไม่ออกก็ให้หันมองไปที่มด ซึ่งคำสอนตรงนี้ทำให้เรามีหัวใจที่เข้มแข็ง และมีความอดทนพยายามเหมือนมด ”

“ในโลกนี้ เวลาทำงานมันไม่มีอะไรที่เราทำสำเร็จได้ด้วยคนเดียว เพราะฉะนั้นการทำงานเป็นทีม เอื้ออาทรกับคนอื่นแล้วคิดเสมอว่าการทำงานจะสำเร็จได้ ไม่มีครั้งไหนเลยที่จะมาจากเราคนเดียวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะมันเป็นไปไม่ได้ และต้องอย่าทุกข์กับการที่คิดว่างานเราหนักอยู่คนเดียว อย่าแบกโลก นี่เป็นคำสอนของคุณพ่อพี่ที่พี่ใช้ในการทำงานอยู่ตลอดเวลา และจำได้ขึ้นใจ”

ด้านการเรียน พี่พรเปิดเผยว่า ชอบไปโรงเรียนตั้งแต่เด็ก ๆ แม้ตอนเล็ก ๆ อายุยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน แต่ก็จะชอบตามพี่ ๆ ไปโรงเรียน นั่งแอบอยู่หลังรถเพื่อจะได้ไปโรงเรียนกับพี่ ๆ จนคุณพ่อต้องวนรถกลับไปส่งที่บ้าน พอเมื่อเข้าโรงเรียนจริง ๆ ก็ยังมีความชอบไปโรงเรียน และเป็นคนที่ร้องขอที่จะไปโรงเรียน ไม่ร้องไห้ เพราะรู้สึกว่าทุกคนในบ้านเป็นต้นแบบที่ดี เป็นเด็กดี เรียนเก่ง จึงอยากเป็นเหมือนพี่ ๆ

พี่พร ยังเล่าให้ฟังถึงชีวิตในวัยเรียนอีกว่า การเรียนของพี่เรียบง่ายมาก เพราะถูกสอนมาตั้งแต่เด็กเรื่องการมีวินัยเลยไม่มีอะไรที่โลดโผน ครูให้ทำงานหรือกิจกรรมอะไรก็จะทำ และตอนเด็ก ๆ ก็จะมีกิจกรรมเยอะทั้งเต้นรำ รำไทย และก็มักจะได้เป็นคนนำแถวและดูแลเพื่อน ๆ ในรุ่น พอเข้ามัธยมก็เรียนหนักขึ้น พี่เรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เรียนสายวิทย์ สนุก มีกิจกรรมจัดบอร์ด ขายของ แต่ไม่ถึงกับโลดโผนมาก คือ เรียนหนังสือ ทำกิจกรรมตามที่โรงเรียนจัด จากนั้นได้เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนกิจกรรมส่วนตัวก็ว่ายน้ำ ตีเทนนิส และคุณพ่อก็สอนยิงปืน

ถ้ามองย้อนกลับไปพี่มองว่าระบบการศึกษาของไทย เราไม่มีการแนะแนวที่ดีพอว่าเด็กควรจะเลือกเรียนอย่างไร ทุกคนจะมองภาพไม่ออกว่าในอนาคตเรียนวิทยาศาสตร์แล้วทำอะไร เรียนวิศวะแล้วทำอะไร เส้นทางอาชีพเป็นแบบไหน มันไม่ได้มีการสื่อสารถึงตรงนี้ แต่ถ้าถามพี่ว่าชอบวิศวะไหม พี่ชอบเรื่องการคิดเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล แต่พอได้ไปเรียนปริญญาโท ด้านบริหารเทคโนโลยีที่ออสเตรเลีย มันจะเรียนอีกแบบคือเป็นการบริหารระดับองค์กร (Firm Level) คิดเป็นเชิงกลยุทธ์ ซึ่งก็ทำให้รู้สึกชอบมากขึ้น แต่ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบเรื่องนโยบาย จนกระทั่งได้มาทำงาน

“พี่เริ่มต้นทำงานตอนอายุ 22 ปี หลังจากจบปริญญาโท จึงไปสมัครทำงานที่ สวทช. เพราะเห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งเขารับคนที่จบด้านบริหารเทคโนโลยีตรงเลย ที่บ้านก็ลุ้นว่าจะเข้าได้ไหมเพราะเห็นว่าหน่วยงานรัฐโดยปกติจะเข้ายาก แต่พี่ก็ส่งใบสมัครไป จนได้โอกาสไปสัมภาษณ์ก็มีคนมาสัมภาษณ์พี่ 5 – 6 คน และได้รับคำถามเด็ดว่า ทำไมถึงมาสมัครงานที่นี่ ถ้าเป็นคนอื่นคงจะตอบเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน แต่พี่ตอบเขาไปว่า “อ๋อ ยังหางานทำไม่ได้ค่ะ” ซึ่งก็สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้สัมภาษณ์ และสุดท้ายเราก็ได้รับโอกาสให้เข้าไปใน สวทช.”

ตอนช่วงแรกที่เข้าไปทำงานที่ สวทช. ยอมรับว่า งงมาก เนื่องจากด้วยความที่เรายังเด็กและคำว่านโยบายมันใหญ่มาก อีกทั้งการทำนโยบายมันเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยตำแหน่งแรกที่เข้ามาทำงานที่ สวทช. เป็นการทำงานด้านนโยบาย เป็นผู้ช่วยนักวิจัย 2 ซึ่งเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้เรียนมาจะมีจุดแตกต่าง คือ สิ่งที่เรียนมาเป็นนโยบายระดับองค์กร (Firm Level) ซึ่งมันมีเป้าหมายและจุดเน้นที่ค่อนข้างชัดเจน แต่พอมาทำนโยบายระดับประเทศมันใหญ่มาก มีความยาก ซับซ้อน สิ่งที่เราเรียนมันเป็นแค่ Unit เดียวที่อยู่ในระบบ ซึ่งพี่ก็ใช้เวลาอยู่พักใหญ่กว่าจะเข้าใจ แต่ก็ทำมาเรื่อย ๆ และกลับรู้สึกว่าพี่สนุกมาก พี่รู้สึกว่านโยบายเป็นงานศิลปะส่วนหนึ่ง เพราะการที่เราจะให้คนอื่นเห็นด้วยกับนโยบายที่เราสร้างสรรค์ขึ้น มันต้องใช้ทักษะที่เป็น Soft Skill เยอะมาก ๆ การคิดนโยบายก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่จะทำให้นโยบายสำเร็จและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้มันเป็นศิลปะ

การทำงานของ ดร. สิริพร ที่ สวทช. เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งถึงปี 2551 จึงได้มาทำงาน สวทน. โดยมีโอกาสทำแผนระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 2 ฉบับ ซึ่งพี่พร เล่าว่า กว่าจะทำนโยบายและแผนฯ สำเร็จนั้นแก้ไขกันจนไม่นับ Version แต่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คิดว่ามันยากมันหนัก พี่พรยังคงคิดถึงคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ที่ให้ดูตัวอย่างการทำงานของมด และความพยายามนั้นส่งผลให้เราไม่ท้อและมุ่งมั่นทำงานต่อ

“เอาจริง ๆ พี่รู้สึกว่าคนทำนโยบาย เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะกว่าที่จะเริ่มต้นคิดก็มีความยาก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ระบบมีความซับซ้อน มีคนเกี่ยวข้องเยอะ กว่าที่จะให้คนอื่นเข้าใจว่าเราคิดอย่างไร กว่าที่จะให้คนอื่นยอมรับและคิดว่าแนวคิดนั้นเป็นประโยชน์และอยากเข้ามาช่วยผลักดัน กว่าที่จะฝ่าความเห็นชอบตามกระบวนการกฎหมาย มันใช้เวลามาก แต่พี่ก็คิดอยู่เสมอว่าการทำนโยบายต้องใช้ทั้งความอดทน ความเป็นพันธมิตร การเข้าใจสถานการณ์รอบตัวจึงจะทำให้นโยบายเกิดขึ้นได้และมีการนำไปสู่การปฏิบัติ”

หลังจากทำงานที่ ย้ายจาก สวทช. มา สวทน. ระยะหนึ่ง ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการด้านข้อมูลดัชนี พี่พรจึงได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอก โดยได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เรียนต่อในด้านนโยบายนวัตกรรมโดยตรง และเป็นระดับ National Level หลักสูตร 3 ปี แต่พี่พรใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีครึ่ง

พี่พรได้เล่าให้ทีมงานฟังด้วยน้ำเสียงที่สะท้อนถึงความสุขในสมัยเรียนระดับปริญญาเอกที่ญี่ปุ่นว่า ตอนเรียนที่ญี่ปุ่นเป็นอะไรที่สนุกมาก ก่อนเริ่มเรียนจะมีคนพูดกับพี่เยอะว่า เรียนปริญญาเอกมันยากนะ ทำวิทยานิพนธ์เหนื่อยนะ ไหนจะสอบอีก แว็บแรกพี่ก็กลัวเหมือนกันว่าเราจะได้ไหม แต่ก็คิดว่าถ้าตัดสินใจแล้วก็ไม่ถอย ทำให้เต็มที่ อาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาของพี่ก็ยังบอกเลยว่า พี่ไม่เคยหลุดออกจากเป้าหมายของพี่ในแต่ละวันเลย ทุกวันของพี่คือเป้าหมายว่าพี่จะต้องมาทำวิทยานิพนธ์ พี่จะต้องมาเรียนหนังสือ เทอมแรกอาจารย์ให้ลงเรียนประมาณ 7 ตัว พอจบเทอมแรกอาจารย์ให้เขียน Paper ไป Conference แล้วกลับมาต้องมาสอบ Comprehensive เลย ซึ่งไม่มีเวลาเตรียมตัวเหมือนคนอื่นแต่ก็ดีที่ทุกอย่างผ่านไปได้ ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยเหมือนกันนะ

แม้ไปอยู่ต่างแดน แต่ด้วยความมีวินัยจึงทำให้พี่พรสามารถบริหารจัดการการเรียนและการดำเนินชีวิตในต่างแดนได้อย่างชนิดที่สร้างความแปลกใจให้กับผู้จัดการหอพักที่เดินมาถามเลยว่า “ถามหน่อยเถอะมีคนบอกว่าคุณเรียนหนังสือเก่งมาก ทำไมในห้องไม่มีหนังสือสักเล่ม” พี่พร เผยว่า วิธีของพี่คือ พี่มีตารางเหมือนพี่ไปทำงาน ทุกวันพี่จะไปที่มหาวิทยาลัยแต่เช้า และอ่านหนังสือ ทำการบ้าน เขียนวิทยานิพนธ์ และตกเย็นก็ไปออกกำลังกาย สาเหตุที่พี่ทำแบบนี้เพราะการเรียนปริญญาเอก มันอิสระไม่มีใครมาบังคับเรา เพราะฉะนั้น หากไม่มีวินัยจะไม่สามารถทำงานต่อเนื่องให้สำเร็จได้ พอพี่ทำแบบนี้พี่กลับบ้านปุ๊ปพี่เหนื่อยแล้วพี่นอนเลย ห้องพี่ใช้นอนอย่างเดียว ไม่มีหนังสือสักเล่ม จนเค้าตกใจว่าเรียนหนังสือยังไง ขณะที่ห้องคนอื่นหนังสือจะเยอะมาก แต่พี่จะใช้วิธีไปมหาวิทยาลัยแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำทุกวัน รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อย่างไรก็ทำไป

“การเรียนปริญญาเอกของพี่ ส่วนตัวพี่เองพี่ถือว่าประสบความสำเร็จ คือ ตามความตั้งใจของพี่แต่แรก ตามที่บอกกับที่ปรึกษาตั้งแต่แรกแล้วว่า พี่จะเรียนจบ 2 ปีครึ่งให้ได้ ซึ่งเค้าก็อึ้ง แล้วก็พยายามบอกเราว่า เรียนปริญญาเอก มันไม่เหมือนทำงาน มันอาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ว่าก็ลองดูว่าจะทำได้แค่ไหน ซึ่งเราก็พยายามเต็มที่ และไม่เคยหลุดจากเป้าหมายที่เราตั้งไว้ แต่ไม่ใช่ว่าการไม่หลุดจากเป้าหมายแล้วจะไม่มีการปรับแผนระหว่างทางนะ เพราะมันจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เราต้องปรับ แต่เราต้องไว เราต้องคิดไปล่วงหน้าแล้วว่าถ้าให้เราปรับแบบนี้เราจะทำอย่างไร และด้วยความที่เรามีประสบการณ์การทำงานที่เจอการเปลี่ยนแปลงบ่อย เราก็จะประเมินว่าถ้านำเสนอแบบนี้มีความเป็นไปได้ที่จะโดนแก้ไข เราก็จะคิดแล้วว่าถ้าเจอแบบนี้จะทำอย่างไร มี Option ไปด้วยเสมอ”

ฟังชีวิตและแง่คิดของพี่พรสมัยเรียนปริญญาเอกจนเพลิน เลยต้องหันมาพูดคุยถึงหน้าที่การงานหลังจากเรียนจบระดับปริญญาเอกกันบ้าง โดยพี่พรเล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบก็กลับมาทำงานที่ สวทน. จนกระทั่งเปลี่ยนผ่านองค์กรมาสู่ สอวช. โดยได้รับมอบหมายให้ดูแลกลุ่มงานเลขานุการสภานโยบายและระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ซึ่งงานจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกจะดูงานเลขานุการสภานโยบายและกฎหมาย โดยทำกฏหมายลูก หลักเกณฑ์ ระเบียบ รวมทั้งดูโครงสร้างระบบหน่วยงาน เช่น ระบบการให้ทุนของประเทศ โดยเสนอให้จัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน 3 แห่ง ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และดูแนวทางโครงสร้างในอนาคตว่าจะต้องปรับหรือไม่และปรับไปในทิศทางไหน เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ดูแลเรื่องงบประมาณ ที่จะดูเรื่องการออกแบบระบบงบประมาณ ดูว่าจะออกแบบการจัดสรรงบประมาณในลักษณะเป็นก้อนใหญ่ (Block Grant) และต่อเนื่อง (Multi-year) อย่างไร ดูข้อจำกัดหรือความไม่ชัดเจน รวมถึงการช่วยให้การทำแนวทางปฏิบัติการทำงบประมาณของแต่ละหน่วยงานราบรื่นอย่างไร ทั้งในส่วนของด้านอุดมศึกษา และในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กลุ่มที่ 3 ดูแลเรื่อง Eco system ซึ่งเป็นเรื่องของการส่งเสริมมาตรการต่าง ๆ โดยตอนนี้กำลังทำเรื่องการส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ หรือ Innovation Sandbox เรื่องกฎหมายการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือ Thai Bayh-Dole Act การร่วมลงทุนในโครงการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา และเอกชน กลุ่มที่ 4 ดูแลเรื่องการติดตามประเมินผล ซึ่งเป็นงานใหญ่มาก เนื่องจากว่ามันไม่ได้ทำแค่การตาม Objectives & Key Results หรือ OKR ของนโยบายยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ว่า ประเทศไทยมีความสามารถด้าน อววน. แค่ไหน และต้องดูว่าในระบบมีความสามารถอย่างไร ซึ่งตอนนี้กำลังทำเรื่องประเมินความสามารถทางเทคโนโลยีของเอกชน โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมอาหารกับยานยนต์ก่อน และจะมีเรื่องการประเมิน Policy สำคัญ ๆ รวมถึงการประเมินหน่วยงานสำคัญในระบบด้วย ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก

ดร. สิริพร ยังได้เผยถึงกุญแจสำคัญของการใช้นโยบายด้าน ออวน. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศว่า ถ้าจะให้นโยบาย อววน. ของประเทศเดินไปได้อย่างเต็มที่ กุญแจสำคัญคือ การประสานกับนโยบายด้านอื่น ๆ เช่น นโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต้องไปส่งเสริมนโยบายด้านอุตสาหกรรม หรือนโยบายด้าน อววน. ต้องไปส่งเสริมนโยบายด้านสาธารณสุข เป็นต้น แล้วเราจะได้เห็นนโยบายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ  

“ประเด็นปัญหาของประเทศพี่เชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ถ้าเราร่วมมือกันผลักดันนโยบาย ช่วยกันทำงาน บางประเด็นปัญหาเรามีข้อมูลอยู่แล้ว มีศักยภาพอยู่แล้ว แต่ยังขาดจุดที่เสมือนเป็นจุดตรงกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลว่า หน่วยนี้ช่วยทำอะไร หน่วยนี้ทำหน้าที่ตรงนี้อยู่นะ หน่วยนี้มีองค์ความรู้แบบนี้นะ ถ้ามีลักษณะการทำงานแบบนี้ มีหน่วยตรงกลางเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล ประสานงาน ร่วมมือกัน พี่คิดว่ามันเปลี่ยนประเทศได้เยอะเลย นอกจากประเด็นการมีหน่วยเชื่อมโยงข้อมูลแล้ว หน่วยงานด้านนโยบายเองก็มีส่วนสำคัญในการเตรียมการรับมือกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศในอนาคต อย่างระบบ อววน. เรามีหน่วยงานให้ทุน เรามีกองทุน แต่สิ่งสำคัญคือโจทย์ของประเทศมันต้องชัดเจน และต้องให้เงินงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และอดทนรอผลงานระยะหนึ่ง เพราะโดยธรรมชาติแล้วงานวิจัยมันไม่เกิดเร็ว โดยเฉพาะงานวิจัยในเรื่องของการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งกว่าจะวิจัยได้ใช้เวลายาวมาก เพราะฉะนั้นพี่คิดว่าประเทศไทยควรจะมีนโยบายที่เป็นสัดส่วนในการแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ของสังคม วางแผนเพื่ออนาคตสักก้อนนึง และให้งบประมาณอย่างต่อเนื่อง และต้องมองการแก้ปัญหาที่ลึกครบทุกมิติ”

เมื่อถามถึงเสน่ห์ของการทำนโยบาย พี่พรตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า เสน่ห์ของนโยบายคือ การได้เห็นนโยบายได้เอาไปใช้ แล้วมันเกิดผลกระทบ มันเกิดขึ้นจริง คนที่ทำนโยบาย หรือคนที่อยู่ในวงการตรงนี้พี่เชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจดี อยากจะให้มันเกิด จุดเริ่มต้นมันเกิดจากความตั้งใจดี และคำว่าส่วนรวม ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเสน่ห์จริง ๆ ถ้าถามพี่ว่าไปทำงานอย่างอื่นได้ไหม มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในชีวิตพี่เท่าไหร่ การทำงานของพี่ตั้งแต่ สวทช. สวทน. จนมาสู่ สอวช. เป็นงานนโยบายที่เกิดผลต่อส่วนรวม พี่คิดเสมอว่าแม้เราจะอยู่ในองค์กรรัฐซึ่งเมื่อเทียบกับเอกชนแล้วอาจไม่กดดันเท่า เพราะไม่ต้องเลี้ยงตัวเอง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะทำงานสบาย ๆ แต่ยิ่งกลับต้องคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้ความตั้งใจและกำลังของเราเกิดผลต่อส่วนรวมมากที่สุด

แม้บทบาทหน้าที่การงานของ ดร. สิริพร จะเป็นงานที่ใหญ่และมีความท้าทายสักเพียงใด แต่หญิงแกร่งคนนี้ไม่เคยตกหล่นกับการทำหน้าที่คุณแม่ ที่ยึดการเลี้ยงดูลูกสาวสุดน่ารักด้วยการให้ความรักอย่างเต็มที่ และใช้เหตุผลในการพูดคุยกับลูกเสมอ  

“พี่ทำงานไปพร้อมกับเลี้ยงลูก พอคลอดน้องเสร็จ 3 เดือนก็มาทำงาน และต้องไปฝากน้องไว้ที่บ้านคุณปู่ตั้งแต่ตอนที่น้องเล็กมาก ๆ ก็มีคนบอกว่าเอาไปฝากแบบนี้ระวังจะไม่สนิทกับพ่อแม่นะ แต่เราก็คิดอย่างนึงว่าถ้าเราทำให้เขาเข้าใจจริง ๆ ว่า การที่เราพาเขาไปส่งตรงนั้นไม่ใช่ว่าเราไม่รักเขา แต่เพราะเรารักเขามากเราถึงเอาเขาไปส่งตรงนั้น ถ้าเราเอาเขาไปส่งที่อื่น เขาอาจจะไม่สบายไม่ปลอดภัยแบบนั้น และเราก็คงไม่สบายใจ พี่จะสื่อสารกับเขาอย่างนี้ตลอด จนกระทั่งคิดว่าเขาเริ่มเข้าใจเรามากขึ้น อย่างเวลาพี่ทำงานอยู่ที่บ้าน เขาก็จะเอาเครื่องคิดเลขมาทำเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์เลียนแบบแม่ แล้วก็มีเม้าส์ของเขาเอง แล้วเขาจะพูดว่า “เดี๋ยวจะนั่งทำงานกับแม่ด้วยนะ” และก็มานั่งข้าง ๆ แล้วก็รอพี่ เล่นเม้าส์ เอากระดาษมาเล่นขีด ๆ เขียน ๆ ไป สักพักก็จะหันมาถาม “แม่ทำงานเสร็จหรือยัง ทำงานเสร็จแล้วบอกนะ” คือเขารู้ว่าเราทำงาน และเขาก็มักพูดกับพี่อยู่เสมอว่าเขารู้ว่าแม่รักเขา นั่นคือทำให้เรารู้ว่าการที่เราพยายามบอกเขา กลายเป็นว่าเขาซึมซับและเข้าใจพี่ การเลี้ยงลูกของพี่ พี่จะพยายามค่อย ๆ สอนเค้า โดยการอธิบาย และไม่ตามใจ ไม่ตี แต่ใช้การกอดแทน เราต้องพยายามสอนเขา ต้องใจเย็น ต้องคิดว่าจะพูดกับเขาอย่างไร เพราะเด็กรู้เรื่องกว่าที่เราคิดเยอะ การคุยต้องมีเหตุผลตลอด ให้รู้ว่าทำไมทำได้ ทำไมทำไม่ได้ และเค้าก็จะค่อย ๆ เรียนรู้เหมือนกับมีเหตุผลไปกับเราด้วย เหมือนพี่เองจะเติบโตไปพร้อมกับเขา เพราะเราเองต้องเข้าใจเขาตั้งแต่เกิดไปเรื่อย ๆ จนโต”

Tags:

เรื่องล่าสุด