×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ประชุมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล นัดแรก “สุวิทย์” เร่งโฟกัส EECi มั่นใจช่วยดึงดูดนักลงทุนใน อีอีซี ด้วยบุคลากรระดับมันสมอง ด้าน สอวช. เสนอทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตครอบคลุม 5 อุตสาหกรรม เร่งทำให้ครบ 12 อุตสาหกรรม คลอดไตรมาสแรกปี 63

ประชุมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล นัดแรก “สุวิทย์” เร่งโฟกัส EECi มั่นใจช่วยดึงดูดนักลงทุนใน อีอีซี ด้วยบุคลากรระดับมันสมอง ด้าน สอวช. เสนอทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคตครอบคลุม 5 อุตสาหกรรม เร่งทำให้ครบ 12 อุตสาหกรรม คลอดไตรมาสแรกปี 63

วันที่เผยแพร่ 9 ธันวาคม 2019 316 Views

(4 ธันวาคม 2562) อาคารจัตุรัสจามจุรี – สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ครั้งที่ 1/2562 โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานอนุกรรมการ และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธานอนุกรรมการ อีกทั้งมี ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และ ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือความคืบหน้าในการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี แนวทางการสนับสนุนบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่อีอีซี แนวทางพัฒนาบุคลากรของประเทศ แนวทางการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มเพื่อดึงดูด/เชื่อมโยงบุคลากรที่มีความสามารถสูงจากทั่วโลก (EECi as a Platform Attracting Talents) รวมถึงระบบการปรับฐานภาษาอังกฤษของนักเรียนอาชีวะในอีอีซี (อาชีวะอินเตอร์) อย่างไรก็ตาม พื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในด้านการลงทุนมาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้ คือ กำลังคนที่สามารถตอบโจทย์สถานประกอบการได้ ซึ่ง EECi จะเป็นแม่เหล็กชิ้นสำคัญให้กับอีอีซี เพราะเป็นพื้นที่ที่จะสร้างบุคลากรระดับมันสมอง (Brainpower) เพื่อตอบโจทย์ด้านกำลังคนให้กับอีอีซี และไม่แค่เฉพาะบุคลากรระดับมันสมองในประเทศเท่านั้น แต่ EECi จะดึงดูด Talent ระดับโลกและจะเชื่อมโยงบุคลากรที่มีความสามารถสูงจากทั่วโลกด้วย จึงต้องเร่งขับเคลื่อนและโฟกัส EECi ให้ดี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาการจัดทำรายละเอียด Future Skills Set หรือทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต เพื่อกำหนดเป็นทักษะสำหรับการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ประเทศ โดย สอวช. ได้จัดทำรายละเอียดนำเสนอครอบคลุมกว่า 140 ทักษะใน 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้า สอวช. จะดำเนินการจัดทำ Future Skills Set เพิ่มเติมอีก 7 อุตสาหกรรม เพื่อให้ครอบคลุมทักษะความต้องการของอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมาย สอวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดรหัส Future Skills Set ที่กำหนด เพื่อให้เกิดหลักสูตรที่ทั้งฝ่ายที่มีความต้องการกำลังคนอย่างสถานประกอบการ และฝ่ายผลิตกำลังคนอย่างสถานศึกษาได้มีแนวทางในการพัฒนาบุคลากรร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนได้มอบหมายให้ สอวช. ดำเนินการกำหนดประเภททักษะ Future Skills Set ที่เป็นทักษะใหม่แห่งอนาคต กับทักษะเพื่อการ Reskill Upskill ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงให้มีความชัดเจน เพื่อให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและง่ายต่อการบริหารจัดการในการผลิตกำลังคน ในส่วนของการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมและรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการควรครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านทักษะที่ครอบคลุม 12 อุตสาหกรรมที่กำหนดใน Future Skills Set ด้วย

ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายนโยบายนวัตกรรมการอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. กล่าวถึงแนวทางพัฒนาบุคลากรของประเทศ ว่า สอวช. ได้จัดทำรายละเอียด Future Skills Set หรือทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต รวมถึงแนวทางการพัฒนาบุคลกรเพื่อตอบโจทย์ประเทศทั้งด้านการรองรับการลงทุน การจ้างงาน การพัฒนากำลังคน ตลอดจนการดึงดูดบุคลากรทักษะสูง โดยแนวทางการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ประเทศ สอวช. ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียด Future Skills Set โดยอ้างอิงจากรายงานการศึกษาแนวโน้มความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต (New S-curve) และทิศทางนโยบายการพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2563-2567 ที่ สอวช. จัดทำขึ้น เพื่อใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรและรับรองการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม เมื่อ Future Skills Set ผ่านความเห็นชอบแล้ว กระทรวง อว. จะมีการจัดทำประกาศรายละเอียด Future Skills Set ดังกล่าวเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณะ และเปิดรับขึ้นทะเบียนหน่วยฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ที่สามารถจัดหลักสูตรและสาขาการศึกษาตาม Future Skills Set ที่กำหนดได้ โดย อว. จะพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงาน RTO (Registered Training Organization) นอกจากนี้ เพื่อให้แนวทางดังกล่าวเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาบุคลากรของภาคเอกชน จึงมีการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้สถานประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับมติ ครม.เศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ที่ได้เห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า หรือ Thailand Plus Package คือ เมื่อสถานประกอบการส่งบุคลากรมาอบรมที่หน่วยงาน RTO ตามที่ได้รับการรับรอง สามารถนำหลักฐานไปขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายฝึกอบรมได้ 2.5 เท่า จากกรมสรรพากร ส่วนสถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างงานใหม่บุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม สถานประกอบการสามารถยื่นคำขอรับรองการจ้างงานบุคลากรมายัง อว. เพื่อพิจารณารับรอง และเมื่อรับรองแล้วสถานประกอบการสามารถนำหลักฐานไปขอยกเว้นภาษีนิติบุคคลประเภทค่าใช้จ่ายการจ้างงานใหม่บุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรม ได้ 1.5 เท่า จากกรมสรรพากร

“สำหรับแนวทางพัฒนาบุคลากรของประเทศ โดยเฉพาะในส่วน Future Skills Set หรือทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต ที่ สอวช. นำเสนอที่ประชุมจำนวน 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และ สอวช. จะเร่งจัดทำ Future Skills Set ที่ครอบคลุมในอีก 7 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน ให้แล้วเสร็จประมาณช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาและดำเนินการเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อนำไปสู่มาตรการ สนับสนุนจากภาครัฐด้านการพัฒนาบุคลากรของประเทศตามรายละเอียดข้างต้นต่อไป” ผศ.ดร.พูลศักดิ์ กล่าว

Tags:

เรื่องล่าสุด