×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. สสว. และ SDG Move จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบการให้คะแนนและค่าถ่วงน้ำหนักของหลักเกณฑ์ BCG เพื่อการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) และต่อยอดการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Transition)

สอวช. สสว. และ SDG Move จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบการให้คะแนนและค่าถ่วงน้ำหนักของหลักเกณฑ์ BCG เพื่อการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) และต่อยอดการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Transition)

วันที่เผยแพร่ 18 ธันวาคม 2023 313 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาระบบการให้คะแนนและค่าถ่วงน้ำหนักของหลักเกณฑ์ BCG เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน เมเนจ บาย เซ็นเตอร์พอยท์ ห้องประชุมบุษบา ถนน พระรามที่ 4 กรุงเทพมหานคร

ในปีงบประมาณ 2566 นี้ ทาง สอวช. และ สสว. ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (Bio-Circular-Green Economy) และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้วย BCG โดยมีการสร้างความตระหนักรู้และอบรมเชิงลึกให้แก่ผู้ประกอบการและนักพัฒนาไปแล้ว ทั้งหมดจำนวน 1,000 ราย เพื่อยกระดับผู้ประกอบการและนักพัฒนา BCG ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัด BCG Indicator ร่วมกับทางศูนย์วิจัย SDG Move เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพตนเอง (Self-Assessment) สำหรับผู้ประกอบการกลุ่ม MSME (Micro-Small-Medium Enterprise) ในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน รวมถึงผลักดันให้เกิดเครื่องมือหรือหน่วยงานให้บริการรับรอง เพิ่มโอกาสในการเชื่อมโยงแหล่งทุนและมาตรการสนับสนุนจากรัฐ รวมถึงสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ จึงเป็นที่มาของการประชุมครั้งนี้ โดย ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงานและกล่าวถึงความสำคัญ นอกจากนี้ ผศ. ชล บุนนาค จาก SDG Move นำเสนอโครงการพัฒนาเครื่องมือและระบบการประเมินแนวคิดเศรษฐกิจแบบ BCG สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการ ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เพื่อพัฒนาระบบการให้คะแนนและค่าถ่วงน้ำหนักของหลักเกณฑ์ BCG เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานหลักที่มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบได้ร่วมกันระดมสมองและแสดงความเห็นในการพัฒนาตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์ BCG ให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและดำเนินการได้อย่างยั่งยืน โดยจะเป็นเครื่องมือวัดที่เหมาะสมและไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ สามารถวัดคุณลักษณะของ BCG และเชื่อมโยงกับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในครั้งนี้มีหน่วยงานเข้าร่วมระดมสมองและแสดงความเห็นในการพัฒนาตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์ BCG ประกอบด้วย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และกลุ่มส่งเสริม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสมาคมธนาคารไทยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยว

เรื่องล่าสุด