×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เผยแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าของไทย ชี้ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการลงทุนด้านนวัตกรรม

สอวช. เผยแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าของไทย ชี้ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในการลงทุนด้านนวัตกรรม

วันที่เผยแพร่ 6 กรกฎาคม 2022 484 Views

ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อ Disruptive Innovation: Frontier Technology-based Solutions for ASEAN Grand Challenges towards Sustainable and Resilient ASEAN ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน 3rd ASEAN Innovation Roadmap Forum: Key Technologies and Innovations in Responding Global Challenges towards Sustainable ASEAN ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค และขยายผลไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมที่จะเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคม

ดร.กาญจนา กล่าวถึงเป้าหมายและความสนใจร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งด้านเศรษฐกิจ เช่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 เรื่อง Digital transformation ด้านสังคม เช่น สังคมสูงวัย
การขจัดความยากจนแบบตรงจุด รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions)

ดร.กาญจนา ยังได้กล่าวถึงเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier technologies) ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร ได้มีการระบุและเปรียบเทียบจุดร่วม รวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ก็ได้มีการระบุสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สำหรับประเทศไทย มีการระบุกรอบการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier research framework) 3 กรอบ/ด้านคือ 1. Physical sciences & engineering 2. Biological sciences & life sciences และ 3. Social sciences, humanities & arts โดย ดร.กาญจนาได้ยกตัวอย่างการวิจัยขั้นแนวหน้าที่ประเทศไทยลงทุนและอยู่ระหว่างการดำเนินงาน เช่น ด้านเทคโนโลยีควอนตัม ด้านระบบโลกและอวกาศ ด้านฟิสิกส์พลังงานสูง และแพลตฟอร์มทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในการวิจัยขั้นแนวหน้าในด้าน BCG

นอกจากนี้ ดร.กาญจนา ได้เน้นย้ำว่าการลงทุนด้านนวัตกรรม จำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุล ทั้งระหว่างการลงทุนในระยะสั้นและกลางเพื่อให้เกิดนวัตกรรม และการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างรากฐานสู่อนาคต และระหว่างการลงทุนแบบผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงสูง (High risk – High return) กับผลตอบแทนแบบน้อยกว่าแต่ปลอดภัย (Safe bet return) โดย ดร.กาญจนา กล่าวปิดท้ายว่า การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-private partnerships) เป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการลงทุนด้านนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการลงทุนในการวิจัยขั้นแนวหน้าด้วย

สำหรับงาน 3rd ASEAN Innovation Roadmap Forum: Key Technologies and Innovations in Responding Global Challenges towards Sustainable ASEAN จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในระหว่างวันที่ 27 – 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างระบบนิเวศน์ด้านนวัตกรรมผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจาให้มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green- Economy) ที่ประเทศไทยผลักดันในกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์ความร่วมมือรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19

เรื่องล่าสุด