×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ชวนถก Higher Education Sandbox กลไกยกระดับการจัดการศึกษาไทย ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมมุ่งผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

สอวช. ชวนถก Higher Education Sandbox กลไกยกระดับการจัดการศึกษาไทย ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมมุ่งผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ความต้องการประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต

วันที่เผยแพร่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 2481 Views

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 8 ในประเด็น “Higher Education Sandbox กลไกการศึกษาใหม่ตอบโจทย์ความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบการมอบอำนาจให้สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร. ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งทั้งสองท่านเป็นคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่ต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

ดร. ยุทธนา ให้คำจำกัดความของ “Higher Education Sandbox” ว่าเป็นการทดลองเพื่อหากลไก ระเบียบวิธี หรือวิธีการจัดการศึกษาในระดับที่เป็นนวัตกรรมทางการอุดมศึกษา และเป็นวิธีที่ต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของเกณฑ์มาตรฐานเดิม สิ่งสำคัญคือในปัจจุบันสถานการณ์การอุดมศึกษาไทยและโลกเปลี่ยนไปมาก ส่วนที่ต้องให้ความสนใจคือการผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิต (Demand Driven) จึงนำมาซึ่งแนวคิดการทดลองเรื่องของแซนด์บ็อกซ์ ที่จะพัฒนาหลักสูตรใหม่หรือวิธีการจัดการศึกษาแบบใหม่ เพื่อผลิตคนให้ตอบความต้องการของสถานประกอบการ และเท่าทันความต้องการของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

หัวใจของแซนด์บ็อกซ์ ส่วนแรกต้องบอกให้ได้ว่าจะทำแซนด์บ็อกซ์ในระดับการศึกษาใด และส่วนที่สองต้องมีคำตอบว่าผลิตบัณฑิตออกมาแล้วจะตอบโจทย์ความต้องการแบบไหน และจะดีขึ้นไปอีกหากตั้งคำถามว่ามีใครจะมาร่วมผลิตไหม ระบุได้หรือไม่ว่าหลังจากผลิตไปแล้วใครจะเป็นผู้ใช้บัณฑิต อาจจะเข้ากระบวนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ที่ภาคประกอบการกับภาคอุดมศึกษาร่วมมือกันในเชิงการผลิต หรือเปลี่ยนจากการแข่งขันกันเองระหว่างมหาวิทยาลัยมาเป็นคู่ค้าร่วมผลิตบัณฑิตกับภาคการผลิต ส่วนต่อมาต้องเห็นรูปแบบการจัดการศึกษาตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน การวัดประเมินผล ไปสู่ขั้นตอนการผลิต ที่สุดท้ายต้องตอบได้ว่า กำลังคนที่ผลิตขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร

ด้าน ดร. พูลศักดิ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์เรื่องความต้องการบุคลากร ที่ สอวช. ได้ทำการสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563 – 2567) พบว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มมีกระแสเรื่องการปรับเปลี่ยนการใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาสู่ระบบงานและระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น มีเทรนด์ของอาชีพใหม่ๆ เช่น Gig Economy ที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ แต่สามารถทำงานในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ และเมื่อได้ทำการศึกษาสมรรถนะบุคลากรก็ได้ข้อมูลสอดคล้องกัน คือมีสมรรถนะหรือทักษะใหม่ๆ เข้ามา โดยเฉพาะเรื่องทักษะดิจิทัล นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) รวมถึงกระแสเรื่องความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ (Cyber Security) ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ เป็นต้น โดยภาพรวมจะเห็นว่า การพัฒนาทักษะบุคลากรต้องปรับตามกระแสความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดการศึกษาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว

สำหรับกลไกการจัดทำแซนด์บ็อกซ์ ดร. ยุทธนา กล่าวว่า มีการเปิดกว้างให้ออกแบบได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แต่อยากให้ตั้งต้นจากผลลัพธ์ที่จะได้จากการเรียนรู้ (Learning Outcome) หรือสมรรถนะที่บัณฑิตจะได้รับ อาจครอบคลุมไปถึงการออกแบบให้การศึกษาในระบบ (Formal Education) รวมทั้งการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) และการศึกษานอกระบบ (Non-formal Education) เป็นเรื่องที่ผูกกันแล้วเปลี่ยนไปเป็นปริญญาหรือวุฒิการศึกษาได้ หรือมีระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ หรือธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ที่มีแนวทางจะทำเป็น National Credit Bank ในระดับประเทศ เพื่อเปลี่ยนหน่วยกิตที่สะสมไว้ให้เป็นปริญญาหรือประกาศนียบัตรได้

ในมุมของแนวทางและกลไกที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนอาจารย์มหาวิทยาลัยในการออกแบบหลักสูตร ดร. พูลศักดิ์ กล่าวว่า หลายกรณีมีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บัณฑิตและผู้ผลิตบัณฑิต ที่บางมหาวิทยาลัยมีระบบเหล่านี้อยู่แล้ว เช่น การสรรหาเด็กตั้งแต่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา นำคอร์สการเรียนในมหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยพัฒนาเด็กให้ค้นหาว่าตัวเองชอบหรือถนัดด้านใด พอเข้าสู่มหาวิทยาลัยก็ทำให้สามารถจัดการศึกษาได้สั้นลง และระหว่างที่เรียนเด็กก็สามารถทำโปรเจกต์กับบริษัทเพื่อเป็นการทดสอบว่าตัวเองมีศักยภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นการร่วมมือกับสถานประกอบการนำไปเชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาที่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา และบางแนวทางเป็นลักษณะการมองไปที่อนาคต จากเทรนด์ที่จะเกิดขึ้น บางหลักสูตรจึงมีการจัดการศึกษาที่ทันสมัย เช่น เรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) Know-how ต่างๆ เข้ามาจัดการศึกษาใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตมากขึ้น

ในด้านการประกันคุณภาพการศึกษา ดร. ยุทธนา ชี้ให้เห็นว่า กลไกการออกแบบแซนด์บ็อกซ์ครั้งนี้ให้ความสำคัญกับมิติเรื่องของมาตรฐานคุณภาพด้วย โดยพยายามให้ความมั่นใจตั้งแต่ต้นน้ำว่ากระบวนการทำงานมีการร่วมมือกัน อีกทั้งการออกแบบ ที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านหลักสูตรและการเรียนการสอนช่วยกันออกแบบ สร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนว่าเมื่อเข้าเรียนในแซนด์บ็อกซ์ จบออกไปแล้วจะมีงานทำแน่นอน นอกจากนี้ยังต้องดูไปจนถึงกระบวนการประเมินผลก่อนจะได้บัณฑิตมา และมีการติดตามการจัดการเรียนการสอน มีคณะกรรมการที่เป็นผู้ประเมินอิสระ ลงไปตรวจเยี่ยมปีละ 2 ครั้ง ช่วยเติมเต็มในการปิดช่องโหว่ระหว่างทางในการดำเนินการสอน และประเมินความพึงพอใจทั้งในส่วนตัวผู้เรียนเองและสถานประกอบการที่บัณฑิตออกไปทำงานจริง เติมสิ่งที่ยังขาดเหลือให้ผู้เรียนและสถาบันการศึกษาเกิดความมั่นใจซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการฟังความเห็นของนักศึกษาว่าระหว่างทางมีข้อติชม มีข้อเสนอแนะอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลสำคัญของกระทรวง อว. ที่จะทำให้เกิดการนำไปพิจารณาต่อในเรื่องของกลไกนโยบาย วิธีการจัดการเรียนการสอนต้องให้ความสำคัญตั้งแต่วันแรกที่ออกแบบหลักสูตร

ดร. พูลศักดิ์ กล่าวปิดท้ายการพูดคุยด้วยการเชิญชวนสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ให้มีแนวคิดในการสร้างแซนด์บ็อกซ์ในสถาบันอุดมศึกษา ที่ไม่ใช่วิธีการเสนอหลักสูตรปกติ และสามารถรองรับความเสี่ยงจากการศึกษาจากหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นได้ และนำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมใหม่ของการอุดมศึกษาไทย ด้าน ดร. ยุทธนา กล่าวว่า อยากให้มีการบูรณาการร่วมกันในการออกแบบการจัดทำแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเท่าทัน รวมถึงเป็นการพัฒนาอุดมศึกษาไทยและอุดมศึกษาโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563 – 2567) สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/report/5532/

เรื่องล่าสุด