×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี OECD และหารือความร่วมมือโครงการ OECD-Thailand Country Program

สอวช. ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี OECD และหารือความร่วมมือโครงการ OECD-Thailand Country Program

วันที่เผยแพร่ 21 ตุลาคม 2019 550 Views

(วันที่ 15-18 ตุลาคม 2562) ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ในฐานะผู้แทนจากประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Committee for Scientific and Technological Policy – CSTP) ครั้งที่ 115 ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD)  และการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ Revision of the Recommendation concerning Access to Research Data from Public Funding และ Rising to the Challenge: Science, Technology and Innovation for the Benefit of All ณ ศูนย์ประชุมสำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส

ประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก OECD ให้เข้าร่วมในคณะกรรมการ CSTP ในฐานะสมาชิกแบบ Participant ในปี 2559 โดยคณะกรรมการ CSTP ทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะและสนับสนุนประเทศสมาชิก OECD ในการจัดทำนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัยและนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการจัดทำดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเชื่อมโยงกับเวทีความร่วมมือหรือองค์กรความร่วมมือนานาชาติ ในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ หัวข้อนโยบายที่ OECD และประเทศสมาชิกให้ความสำคัญ คือเรื่องการเข้าถึงข้อมูลงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อทำให้มีมาตรฐานการเข้าถึงและแบ่งปันข้อมูลอย่างทัดเทียมกันในระดับนานาชาติ รวมทั้งการสนับสนุนและการจัดทำกลไกในการเข้าถึงข้อมูลแบบ Open Access นอกจากนั้น คณะกรรมการยังได้มีการหารือถึงกลไกในการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่นานาประเทศประสบอยู่ เช่น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปัญหาด้านการสาธารณสุขและโรคระบาดเขตร้อน ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึง การทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ การแก้ปัญหาเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการบูรณาการศาสตร์ทุกด้าน ซึ่งรวมถึงด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ด้วย

นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ประชุมร่วมกับผู้แทนคณะทำงานด้านนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพ นาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีหลอมรวม(Working Party on Biotechnology, Nanotechnology and Converging Technologies – BNCT) ของ OECD เพื่อหารือกรอบความร่วมมือภายใต้โครงการ OECD-Thailand Country Program ซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี ทั้งนี้ สอวช. ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ เพื่อจัดทำการศึกษาสถานภาพและโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Biorefinery ในระดับเล็กและกลางของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Tags:

เรื่องล่าสุด