×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ขับเคลื่อนนโยบายความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สอวช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ขับเคลื่อนนโยบายความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

วันที่เผยแพร่ 17 มีนาคม 2023 624 Views

(16 มีนาคม 2566) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (รมว. อว.) แสดงวิสัยทัศน์ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในงานเสวนาทางวิชาการเปิดโลกลานเกียร์ เรื่อง “นโยบายการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” จัดโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ ห้องประชุม ชั้น 2 ตึก 4 (เจริญวิศวกรรม) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.เอนก ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างแบบชดเชย หรือ Offset โดยกล่าวว่า นโยบาย Offset จะช่วยให้การซื้อสินค้า โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ สามารถตั้งเป็นเงื่อนไขได้ว่า นอกจากจะได้รับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่เป็นเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทผู้ขาย หรือได้รับการฝึกอบรมพิเศษ เพื่อให้เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน มีประเทศมาเลเซียที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว และประสบความสำเร็จอย่างมาก หรืออย่างในประเทศจีน ใช้การเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ในการซื้อสินค้า ทำให้มีแต้มต่อในการเจรจาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ขาย ซึ่งจีนได้นำสินค้าและองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดนั้นไปทำการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) จนสามารถพัฒนาสินค้าขึ้นเองได้ เช่นเดียวกับประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด ใช้งบประมาณไปกับการทำ R&D สูง ซึ่งช่วยสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สามารถไล่ตามประเทศที่พัฒนาไปก่อนหน้าได้

“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปเยอะ มีประเทศผู้ขายเพิ่มขึ้น และผู้ขายเทคโนโลยีระดับสูงไม่ได้มีแค่ในชาติตะวันตก แต่มีฝั่งเอเชียด้วย เราจึงไม่ควรคิดถึงการซื้อเทคโนโลยีจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว ต้องปรับแนวคิด ในการซื้อเพื่อนำมาศึกษา ตั้งเงื่อนไขให้ผู้ขายเข้ามาสอน มาฝึกอบรม มาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราด้วย ไทยเรายังมีแต้มต่อเยอะ มีกำลังซื้อไม่น้อย จากการลงทุน R&D ของไทยที่ผ่านมา พบว่า มีการลงทุนจากภาคเอกชนถึง 80% และจากภาครัฐ 20% ดังนั้น ถ้าภาครัฐไปเข้าร่วมในการลงทุน R&D เพิ่มมากขึ้นก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังหน่วยงานในประเทศให้ทันสมัยมากขึ้นด้วย” ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมทางด้านเทคโนโลยี และวิศวกรรมให้ความสนใจเรื่องนโยบาย Offset ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการขยับไปอีกก้าวหนึ่งของประเทศในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานจากหลายภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้มากว่าสิบปี แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศที่จะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของเรา คือการนำประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้จะต้องเชื่อมโยงกับการทำระบบนิเวศเหล่านี้ โดยต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ จากเดิมที่มองว่าการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องซื้อของถูก แต่การนำนโยบาย Offset มาใช้จะมองว่าสิ่งที่ได้นั้นต้องมีคุณภาพและสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศได้ในระยะยาวด้วย

“การขับเคลื่อนนโยบาย Offset นอกจากที่จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว สิ่งที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพคือการมองถึงแนวทางพัฒนาขีดความสามารถในการดูดซับเทคโนโลยีในประเทศด้วย สำหรับบริษัทต่างประเทศที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี อาจจะสามารถเข้าร่วมนโยบาย Offset และช่วยเราสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงช่วยเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) ได้ แต่อีกขาหนึ่ง ในส่วนของการดูดซับเทคโนโลยีเหล่านั้น ที่ต้องอยู่ในกลุ่ม Local offset partners หากเป็นบริษัทใหญ่ก็อาจจะดูดซับเทคโนโลยีได้มาก แต่ต้นทุนจะสูง หากเป็นกลุ่ม SME วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในมุมของบริษัทต่างประเทศที่นำเทคโนโลยีเข้ามามองว่าการดูดซับเทคโนโลยีจะมีความคล่องตัวมากกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่า ดังนั้นจึงควรเข้าไปสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ใน consortium ของ local partners ด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ทั้งนี้ ยังต้องสนับสนุนให้มี Local academic institute ได้แก่ มหาวิทยาลัย หรือคณะต่าง ๆ ที่จะช่วยผู้ประกอบการ วิสาหกิจ SME ในการดูดซับเทคโนโลยี เนื่องจากในมหาวิทยาลัยมีระบบในการส่งเสริมองค์ความรู้ ที่สามารถถ่ายทอดต่อไปยังกลุ่ม SME ได้ การขับเคลื่อนนโยบาย Offset จึงต้องคำนึงถึงกลไกนี้ร่วมด้วย

ในงานยังได้เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการใช้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กับการส่งเสริมงานวิจัยพัฒนาและโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทย” โดยมี นางสาวนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์เศรษฐกิจนวัตกรรม สังคมและความร่วมมือ สอวช. เข้าร่วมเป็นหนึ่งในผู้เสวนา

นางสาวนิรดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา สอวช. ที่เป็นหน่วยงานในระดับนโยบาย พยายามสร้างระบบนิเวศของระบบวิจัยและนวัตกรรม ด้วยกลไกต่าง ๆ ทั้งในแง่กฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ เรียกได้ว่า ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่ดีในเรื่องกลไกเหล่านี้ค่อนข้างมากกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งการสนับสนุนให้เกิดนโยบาย Offset เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะช่วยสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย และจะส่งผลต่อเนื่องสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไปเป็นห่วงโซ่คุณค่าในระดับโลกได้ รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพก็จะได้รับผลประโยชน์ด้วย แต่การมีกลไกที่เตรียมพร้อมไว้อาจยังไม่เพียงพอ จะต้องทำกลไกนั้นเกิดประสิทธิภาพด้วย โดยต้องมุ่งเป้ากำหนดให้ชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีประเภทไหน ต้องมีกลยุทธ์ว่าคนกลุ่มใดที่เราอยากส่งเสริม สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ควรผลักดัน อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีที่ประเทศไทยมีความต้องการ เพื่อให้เราสามารถเพิ่มศักยภาพในการผลิตเทคโนโลยีได้เองทดแทนการซื้อ รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีที่กำลังถูกกฎระเบียบของโลกเข้ามาสร้างผลกระทบ เช่น ในกลุ่มพลังงาน การไปสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อม โดยหลังจากนี้ การจะทำให้นโยบายเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ยังต้องมีการเข้าไปสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีแนวโน้มจะสามารถนำนโยบายนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน และเห็นภาพหน่วยงานที่จะขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริง

เรื่องล่าสุด