×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » รัชกาลที่ 9 กับพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร

รัชกาลที่ 9 กับพระราชกรณียกิจด้านการเกษตร

วันที่เผยแพร่ 12 ตุลาคม 2021 7634 Views

จากสัดส่วนประชากรในประเทศไทยที่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเห็นความสำคัญของการทำการเกษตรจึงได้ทรงริเริ่มโครงการในพระราชดำริหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ

โครงการในพระราชดำริที่สำคัญเกี่ยวกับการเกษตร อาทิ โครงการแกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ด้วยการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาทางเคมีจนทำให้ดินเปรี้ยวจัด เมื่อถึงที่สุดแล้วจะมีการระบายน้ำออกแล้วปรับสภาพดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งสามารถใช้ดินในการเพาะปลูกได้, โครงการปลูกหญ้าแฝก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำและให้ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นต้น คือการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร 30% และเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10% ขั้นที่สอง คือการให้เกษตรกรรวมกันในรูปแบบของกลุ่มสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม คือการติดต่อประสานงาน จัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป

สำหรับการพัฒนาทรัพยากรน้ำ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาอุทกภัย รวมไปถึงการบำบัดน้ำเสีย โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ มีทั้งโครงการขนาดใหญ่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมได้ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จนถึงโครงการขนาดกลาง และเล็กจำพวก ฝาย และอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก

ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเน่าเสียในคูคลอง ยังได้ทรงมีพระราชดำริเรื่องแก้มลิง ควบคุมการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน ลำคลองต่างๆ ลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล ทั้งยังเป็นการใช้น้ำดีไล่น้ำเสียออกจากคลองได้อีกด้วย โดยใช้เครื่องกลเติมอากาศ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการเพิ่มออกซิเจน เป็นสิ่งประดิษฐ์หนึ่งของพระองค์ที่ได้รับสิทธิบัตรจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ขอบคุณข้อมูลจาก:

https://www.cdti.ac.th/en/พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ-พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร-มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช-บรมนาถบพิตร

Tags:

เรื่องล่าสุด