×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 4 : การปฏิรูปเชิงระบบเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ดี (System Reform)

ผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 4 : การปฏิรูปเชิงระบบเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ดี (System Reform)

วันที่เผยแพร่ 16 สิงหาคม 2021 1160 Views

ในมิติที่ 4 การปฏิรูปเชิงระบบเพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่ดี (System Reform) เป็นการดำเนินงานเพื่อมุ่งให้เกิดระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณผ่านกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ที่สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และตอบโจทย์การวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้น ในลักษณะ Block Grant และ Multi-year เกิดระบบบริหารและจัดการทุน รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม (PMU) ที่รับผิดชอบในสาขาที่สำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศอย่างครอบคลุม มีระบบการติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิผล การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการวางนโยบายการจัดสรรงบประมาณ และการดำเนินงานของหน่วยงานในระบบ อววน. ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีระบบการเชื่อมโยงข้อมูล อววน. ที่บูรณาการและลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน

5 ผลงานสำคัญในมิติที่ 4 ประกอบด้วย

1. การออกแบบระบบโครงสร้างและการบริหารจัดการหน่วยงานในระบบ อววน.

สอวช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบ อววน. ทั้งในเชิงโครงสร้างและกลไกที่จะส่งผลการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยทิศทางที่เป็นเอกภาพและชัดเจน และหน่วยงานในระบบ อววน. ในทุกระดับตั้งแต่ระดับนโยบายระดับให้ทุน ระดับปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรม และระดับการใช้ประโยชน์การวิจัยและนวัตกรรม มีกลไกการดำเนินงานที่สอดรับกัน ตอบเป้าหมายของนโยบายและยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างผลลัพธ์และผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศได้ โดยในปี 2563 ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านภายใต้สภานโยบายฯ 3 หน่วย ประกอบด้วย 1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 2. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)  และ 3. หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

2. การออกแบบระบบงบประมาณ อววน. (Budgeting System)

ในปี 2563 การตั้งกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผน และการออกแบบระบบงบประมาณที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ โดยเน้นให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สอวช. และสำนักงบประมาณ และระบบบริหารจัดการที่คล่องตัว นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.)  นำเสนอหลักการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษาผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 และส่งต่อให้ สป.อว. นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมีมติเห็นชอบในหลักการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563

โดยในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา สอวช. ร่วมกับ สป.อว. ศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและส่งเสริมการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศและการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการประชุมครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เห็นด้วยในหลักการของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนคุณภาพและเพียงพอในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เกิดกลไกการทำงานในการพัฒนาระบบอุดมศึกษาร่วมกับ ภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และชุมชนที่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้ ร่างกฎหมายฯ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่ปรึกษาทรงคุณวุฒิพิจารณาร่างกฎหมายลูกบทภายใต้กฎหมายจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่24 พฤศจิกายน 2563 และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับ สป.อว. เพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายทุนหมุนเวียน และเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป

โดยกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาจะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ เพิ่มศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุนการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ทั้งภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนคณาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3. การเชื่อมโยงระบบข้อมูล อววน.

การดำเนินงานด้านการเชื่อมโยงระบบข้อมูล อววน. ของ สอวช. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศมีเอกภาพ มีความปลอดภัยและสิทธิ์การเข้าถึงระบบอย่างถูกต้อง ลดความซ้ำซ้อนของระบบบริหารจัดการงานวิจัยของประเทศและความซ้ำซ้อนของการสนับสนุนงานวิจัยของประเทศ

สอวช. ดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับ สกสว. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดทำข้อเสนอโครงสร้างระบบข้อมูลด้านวิจัยและนวัตกรรมที่พึงประสงค์ (ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ – NRIIS) ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายด้านผังโครงสร้างข้อมูลและแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยระบบข้อมูลด้านวิจัยและนวัตกรรมเริ่มตั้งแต่การรับข้อเสนอโครงการ จำแนกตามประเภทงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม บุคลากรวิจัย โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยและระบบมาตรฐาน เพื่อสรุปโครงการที่จะได้รับทุนสนับสนุนแบบเอกภาพในที่เดียว ใช้ในการกำกับติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานทุกหน่วยจัดสรรทุน การเบิกจ่ายงบประมาณ และหลังจากสิ้นสุดโครงการจะมีการส่งมอบผลงานวิจัยที่เป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ ที่สามารถจำแนกออกเป็น ผลผลิตเชิงวิชาการ ผลผลิตเชิงพัฒนาสังคม/พื้นที่ ผลผลิตเชิงเศรษฐกิจ และผลผลิตเชิงนโยบาย นอกจากนี้ระบบยังสามารถจัดทำประเภทผลผลิตที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบรายงานฉบับสมบูรณ์ เช่น ผลผลิตเชิงนวัตกรรม ผลผลิตเชิงพัฒนาคน ผลผลิตเชิงโครงสร้างพื้นฐาน และผลผลิตเชิงเครื่องมือ เพื่อรองรับรูปแบบใหม่ๆ ของการนำส่งผลผลิตจากงบประมาณวิจัยและพัฒนาของภาครัฐบาล

3. การติดตามและประเมินผล อววน.

สอวช. ในฐานะนฝ่ายเลขานุการสภานโยบายฯ ได้ออกแบบกรอบแนวทางการติดตามและประเมินผลระบบ อววน. ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง และให้การติดตามและประเมินผลสามารถสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของ อววน. ในมิติต่างๆ โดยระบบการติดตามและประเมินผล อววน. มีองค์ประกอบหลายส่วน มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนที่ต้องพิจารณาในหลายระดับ โดยหลักการสำคัญ (Guiding Principles) ของกรอบการติดตามและประเมินผลระบบ อววน. ของประเทศ ประกอบด้วย

1) การติดตามและประเมินผลต้องครอบคลุมการดำเนินการใน 3 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับนโยบายยุทธศาสตร์ เป็นการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุน อววน. ที่มีต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคมและความยั่งยืนของประเทศอันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย สอวช.ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบ 2) ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พิจารณาครอบคลุมการติดตามและประเมินผลในระดับปฏิบัติ และความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่สำคัญ (OKRs) ของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. โดย สกสว. สป.อว. และ สอวช. แบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบ 3) ระดับปฏิบัติ เป็นการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานระดับแผนงานและโครงการที่สนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยบริหารและจัดการทุน

2) กลไกการติดตามและประเมินผลต้องเชื่อมโยงและส่งต่อผลการติดตามและประเมินผลขึ้นไปในแต่ละระดับอย่างเป็นระบบ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและองค์ประกอบการติดตามและประเมินผล ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ส่วนที่ 1 การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานระดับแผนงานและโครงการที่สนับสนุน นโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนที่ 2 การติดตามและประเมินผลความสำเร็จตาม OKR ของนโยบายยุทธศาสตร์ ส่วนที่ 3 การประเมินผล (Contribution) ของการลงทุนที่มีผลต่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจ สังคมและความยั่งยืนของประเทศ ส่วนที่ 4 การติดตามประเมินผลความก้าวหน้าและขีดความสามารถของระบบ ววน. ด้วย National Profile Index

4. การจัดทำกฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา อววน.

ปี 2563 มีการจัดทำกฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา อววน. ที่สำคัญ ได้แก่ 1) ระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริม ววน. โดย สอวช. จัดทำระเบียบสภานโยบายฯ ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 และระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดกรอบจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ให้การจัดสรรงบประมาณจากกองทุนมีลักษณะเป็น Multi-year และ Block grant และให้มีระบบกำกับการดำเนินงานด้วย OKRs มีระบบบริหารกำกับดูแลและติดตามการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพ เพื่อก่อให้เกิดระบบการจัดสรรงบประมาณ ววน. ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการขับเคลื่อนระบบ อววน. ให้มีความเข้มแข็งและมีเอกภาพ ตอบสนองต่อโจทย์การพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ระเบียบสภานโยบายฯ ว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ได้รับความเห็นชอบในการประชุมสภานโยบายฯ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

2) ระเบียบว่าด้วยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง (ส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมฯ) สอวช. จัดทำระเบียบสภานโยบายฯ ว่าด้วยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง พ.ศ. 2563 ทำหน้าที่พิเศษตามที่สภานโยบายฯ มอบหมาย เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มติคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องถือเป็นมติสภานโยบายฯ เพื่อก่อให้เกิดเครือข่ายการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนระบบ อววน. ที่มีความเข้มแข็งและมีเอกภาพ โดยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องมี 2 ประเภท ได้แก่ 1. คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านต่าง ๆ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายพิเศษ 2. คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องเพื่อการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยระเบียบสภานโยบายฯ ว่าด้วยคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องได้รับความเห็นชอบในการประชุมสภานโยบายฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

รอติดตามสรุปผลงานของ สอวช. ในปี 2563 ในมิติต่อไป ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สอวช.

สามารถอ่านรายละเอียดผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563

มิติที่ 1 : วางนโยบายทิศทางของประเทศ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนา ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8511/

มิติที่ 2 : ขับเคลื่อนระเบียบวาระการพัฒนาที่สำคัญตอบยุทธศาสตร์ชาติ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8559/

มิติที่ 3 : ออกแบบกลไกและแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนของประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8565/

ผู้ที่สนใจอ่านรายละเอียดรายงานประจำปี 2563 ของ สอวช. สามารถติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2021/04/AnnualReport-2563.pdf

Tags:

เรื่องล่าสุด