×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “ดร.เอนก” ลงใต้ หนุนใช้ อววน. แก้ปัญหาชุมชน ตอกย้ำศักยภาพ ราชมงคล – ราชภัฎ ทัดเทียมมหาวิทยาลัยชั้นนำ สร้างรายได้ให้ชุมชน 10 ล้านบาทต่อปี

“ดร.เอนก” ลงใต้ หนุนใช้ อววน. แก้ปัญหาชุมชน ตอกย้ำศักยภาพ ราชมงคล – ราชภัฎ ทัดเทียมมหาวิทยาลัยชั้นนำ สร้างรายได้ให้ชุมชน 10 ล้านบาทต่อปี

วันที่เผยแพร่ 1 ตุลาคม 2020 376 Views

ในระหว่างวันที่ 25 – 27 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าผลการดำเนินงาน “บทบาทมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่” นวัตกรรมสร้างเศรษฐกิจชุมชนบนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นและภูมิวัฒนธรรม ในพื้นที่ จ.ตรัง  และ จ.นครศรีธรรมราช จากการสนับสนุนทุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีมหาวิทยาลัยในท้องที่เป็นแม่ข่ายในการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน

โดยคณะได้เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดตรัง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บพท. ในการใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พัฒนานวัตกรรมชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและหนุนเสริมผู้ประกอบการชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียนจังหวัดตรัง บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นสู่ตลาดการแข่งขันและสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สู่ตลาดออนไลน์ จังฮู้ดอทคอม JUNGHUU.COM ที่กำลังได้รับความนิยม โดยมีมหาวิทยาลัยฯ เป็นพี่เลี้ยงและทำงานกับชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชม โครงการ “การวิจัยและพัฒนาระบบกลไกดูดซับเศรษฐกิจผ้าพื้นถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นตลาด เป็นแหล่งบริโภคให้กับชุมชน โดยกลุ่มผู้ผลิตผ้าระดับชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการวิจัยฯ นำผ้ายกดอกตัดร่วมกับชุดครุย เป็นที่แรกของประเทศไทย และจะเป็นต้นแบบให้กับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในการนำผ้าท้องถิ่นมาตัดเย็บ สร้างรายได้ให้กับชุมชน

คณะยังได้เดินทางไปยังพื้นที่ขยายผลการวิจัยและนวัตกรรม ณ ธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยขณะนี้ได้พัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกที่หนึ่งของ อ.ท่าศาลา ด้วย ปิดท้ายดัวยการนำชมย่านเมืองเก่าทุ่งสง อาทิ ย่านบ้านพักรถไฟสถานีชุมทางทุ่งสง โรงรถจักรทุ่งสง โรงพยาบาลทุ่งสง ชุมทางทุ่งสง ย่านยิบอินซอย ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายผลจากโครงการการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ ฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า การนำทีมงานและหน่วยงานต่าง ๆ ลงพื้นที่ในครั้งนี้นับเป็นทีมใหญ่ หลังจากที่พบว่าการดำเนินงานของ บพท. นั้นมีความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง และการพาหลายหน่วยงานมาดูงานพร้อมกันเพื่อให้เห็นภาพร่วมกัน ทั้งนี้ทุกหน่วยงานมีคนเก่ง มีผลงาน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว ดังนั้นการผสมผสานเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เห็นโอกาสของกันและกัน และมาทำงานร่วมกัน มันจะเป็นพลังมหาศาล นั่นหมายความว่า งานด้าน อววน. สามารถใหญ่ขึ้นหรือขยายขึ้นได้ จากเดิมที่มีเฉพาะการเรียนการสอน การทำวิจัย หรืออาจทำนวัตกรรมที่ไม่สู่การปฏิบัติ แต่ขณะนี้สามารถลงสู่การปฏิบัติได้มากขึ้น ซึ่งท่านนายกให้ความสนใจงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และอยากให้ อว. นำสิ่งเหล่านี้มาช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำศักยภาพมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยราชมงคล ตลอดจนวิทยาลัยชุมชนที่มีศักยภาพกระจายอยู่ทั่วประเทศ และต่อไปก็จะวัดผลงานกันด้วยการลงพื้นที่ช่วยชุมชนให้พ้นความยากจน มากกว่าวัดกันที่การลงวารสารทางวิชาการเท่านั้น

“จากวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากการลงพื้นที่ในจังหวัดตรังและนครศรีธรรมราช นั่นคือ หากเศรษฐกิจฐานรากดี จะส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว และได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวน้อยมาก ตรงกันข้ามกลับมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าการใช้ประชาคมท้องถิ่นเข้ามาร่วมทำวิจัยถือเป็นความสร้างสรรค์และเป็นพลังของชุมชน โดยไม่ต้องรอหน่วยงานภาครัฐ” รมว.อว. กล่าว

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า ความสำเร็จวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกแหล่งทุนไม่ว่าจะเป็น สอวช. – บพท. สวทช. วช. วว. ฯลฯ โดยมองถึงมหาวิทยาลัยเป็นโครงสร้างการพัฒนาพื้นที่ และจังหวัด ถ้ามหาวิทยาลัยสามารถพัฒนาตัวเองไปตอบโจทย์จังหวัดได้ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัด ทั้งกระบวนการทำแผน ทำระบบข้อมูล โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จากฐานทุนภูมิวัฒนธรรม ซึ่งหากทำได้ บพท. คาดหวังว่าการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดจะเกิดมรรคเกิดผลต่อชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม 

“กรอบวิจัยมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ที่เป็นตลาดเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในพื้นที่ ที่มีฐานทุนอยู่เดิมอย่างที่ มทร.ศรีวิชัย มี จังฮู้ดอทคอม หรือที่ มรภ.นครศรีธรรมราช มีการใช้ผ้าพื้นถิ่นเข้ามาเป็นกลไกดูดซับเศรษฐกิจของจังหวัด สร้างเศรษฐกิจมวลรวมในจังหวัดได้มากกว่า 10 ล้านบาท มีกรอบวิจัยที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่กับการพัฒนาย่านสร้างสรรค์จากฐานทุนวัฒนธรรม และกรอบงานวิจัยพัฒนาเมืองและเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งตรัง และสงขลา เป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งในภาคใต้ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 29 เมือง 16 มหาวิทยาลัย เกิดกลไกการพัฒนาระดับพื้นที่ ซึ่งหากกระจายด้วยโมเดลเดียวกันทั่วประเทศโดยดึง มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยราชมงคล และวิทยาลัยชุมชนต่าง ๆ ก็สามารถขยายผลสร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาทต่อปี” ดร.กิตติ กล่าว

ด้าน ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ชุมชน ต้องเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนด้วย เพราะหากทำวิจัยแล้วชุมชนไม่ได้อะไรกลับคืนมาก็ไม่มีประโยชน์ สอวช. – บพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุน ได้ดึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งรู้จักชุมชนดี มาทำงานร่วมกับชุมชนเป็นพี่เลี้ยงในการทำวิจัย และเพิ่มมูลค่าผลผลิตเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันตลอดจนทำตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่คุ้นเคย รวมทั้งต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขาทำกันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราเติมการใช้ อววน. ลงไป เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

ที่มารูป : กระทรวง อว.

Tags:

เรื่องล่าสุด