×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เข้าร่วมประชุม ADB International Skills Forum แลกเปลี่ยนนวัตกรรมการจัดการศึกษาในไทย ยกระดับการพัฒนากำลังคนตอบความต้องการผู้จ้างงาน

สอวช. เข้าร่วมประชุม ADB International Skills Forum แลกเปลี่ยนนวัตกรรมการจัดการศึกษาในไทย ยกระดับการพัฒนากำลังคนตอบความต้องการผู้จ้างงาน

วันที่เผยแพร่ 24 ตุลาคม 2023 389 Views

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม “The 10th ADB International Skills Forum: A New Era of Digitalized and Climate Resilient Human and Social Development” ระหว่างวันที่ 17 – 19 ตุลาคม 2566 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาคนโยบาย ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia and Pacific region) มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด นโยบาย และกรณีตัวอย่างการดำเนินการด้านการจัดการศึกษา เพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้จ้างงาน และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดร.กิติพงค์ ได้แลกเปลี่ยนกรณีศึกษา ในหัวข้อเรื่อง การยกระดับนวัตกรรมการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคแปซิฟิก โดยยกตัวอย่างการดำเนินการในประเทศไทย คือ 1) การนำร่องการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ร่วมกับกลุ่มสถานประกอบการ ผ่านกลไก Higher Education Sandbox เพื่อให้ผู้เรียนสามารถออกไปทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเรียน 4 ปี เพื่อให้จบหลักสูตรและได้รับปริญญาตรี โดยแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นโมดูล (module) และให้ใบรับรอง (certificate) ตามระดับความรู้ความสามารถ ผู้เรียนสามารถนำใบรับรองไปใช้ประกอบการทำงาน และเมื่อทำงานไประยะหนึ่ง สามารถกลับเข้ามาเรียนเพื่อเพิ่มเติมความรู้ หรือเพื่อศึกษาต่อจนสำเร็จในระดับปริญญาตรีได้ 2) โครงการแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ หรือ STEMPlus เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะ (Upskill/Reskill) ของคนวัยทำงาน พร้อมสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และการได้รับ cashback สำหรับ SME ซึ่งเป็นการออกแบบระบบการให้มาตรการจูงใจที่จำเพาะต่อความต้องการที่แตกต่างกันของภาคธุรกิจ รวมถึงได้นำเสนอโมเดลการฝึกอบรมระยะสั้นในรูปแบบ Bootcamp โดยความร่วมมือกับองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย (Generation Thailand) เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีงานทำแบบเร่งด่วนตอบโจทย์ตลาดงานด้านดิจิทัล และด้านการดูแลผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนถึงการดำเนินงานของประเทศตนเองเช่นกัน อาทิ กลุ่มประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก มีการจัดทำ Waka Moana Learning Hub เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรในการจัดการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศไมโครนีเซีย มีการดำเนินโครงการ Skill Enhancement and Employability ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะทางด้านเทคนิคให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้มีทักษะสูงขึ้น ได้รับการจ้างงานในระดับรายได้ที่สูงขึ้น และช่วยลดการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ประเทศกัมพูชามีนโยบายที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา มีการจัดทำ Skill Development Roadmap เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะสูงรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง โดยเน้นการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (Technical and Vocational Education and Training, TVET) ประเทศวานูอาตู มีโครงการจัดฝึกอบรมที่ครอบคลุมกลุ่มผู้หญิงและผู้พิการ รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศฟิลิปปินส์มีการจัดทำแพลตฟอร์มของประเทศเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของทั้งผู้สอนและผู้เรียน และเป็นแพลตฟอร์มที่ชาวฟิลิปปินส์ทุกคนเข้าถึงได้ ประเทศอินโดนีเซียมีการจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาโทด้านเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด และก้าวเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2060

จากการประชุมดังกล่าว เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในนโยบายและการขับเคลื่อนด้านการศึกษาและพัฒนากำลังคนของประเทศต่าง ๆ ทั้งด้านการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการจัดการศึกษา และการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีสมรรถนะสูง ตรงความต้องการของตลาดงาน สามารถขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมฐานความรู้และนวัตกรรม และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต

เรื่องล่าสุด