×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ชี้แนวทางพัฒนากำลังคนแบบ co-creation รัฐ-เอกชน ร่วมออกแบบหลักสูตรการพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ภาคผู้ใช้บัณฑิตจริง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกสมัยใหม่

สอวช. ชี้แนวทางพัฒนากำลังคนแบบ co-creation รัฐ-เอกชน ร่วมออกแบบหลักสูตรการพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ภาคผู้ใช้บัณฑิตจริง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกสมัยใหม่

วันที่เผยแพร่ 1 เมษายน 2023 631 Views

(31 มีนาคม 2566) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมเสวนาในประเด็น “Future of Human Capital” ในงาน Executive Forum on Competitiveness 2023 Getting ready for the Future จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยเวทีนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนของประเทศให้พร้อมสำหรับอนาคต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในบริบทใหม่ของโลก มีผู้เข้าร่วมทั้งในกลุ่มผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทด้านนโยบายและการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคน และผู้ที่สนใจและต้องการมีส่วนร่วมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงประเด็นท้าทายที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญ คืออัตราการเปลี่ยนแปลงเรื่องการพัฒนากำลังคนในประเทศที่ช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกภายนอก ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลในการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศคือเรื่องของการให้แรงจูงใจในการลงทุน และสิ่งที่ตามมาคือเรื่องบุคลากร ที่ต้องพิจารณาว่ามีบุคลากรที่มีความสามารถเพียงพอหรือไม่ ดังนั้นเรื่องการพัฒนาบุคลากรจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมาก การออกแบบการพัฒนาบุคลากร หรือการจัดศึกษาจะต้องเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยน ให้เท่าทัน technological disruption อีกทั้งในปัจจุบันคนอายุยืนยาวขึ้น ปรับเปลี่ยนไปมีวิถีชีวิตแบบหลากหลายขั้น (multi-stage life) คือ เกิด เติบโต เข้าเรียน ขณะเรียนก็ทำงานไปด้วย และกลับมาพัฒนาทักษะเพิ่ม ออกไปทำงานใหม่ การพัฒนาคนจึงต้องเปลี่ยนตาม อีกทั้งยังต้องจับตาเรื่องจำนวนนักศึกษาในระบบที่ลดลง ต้องมองถึงการดึงดูดนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันด้วย

“การพัฒนากำลังคนของประเทศควรจะต้องทำให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะแค่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องมองถึงกลุ่มคนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศอย่างกลุ่มภาคการเกษตรที่เป็นต้นน้ำในการสร้างผลผลิตเพื่อไปขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจด้วย รวมถึงอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ Gig Economy หรือกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ทำอาชีพบนแพลตฟอร์ม กลุ่มคนเหล่านี้มีความสำคัญมากต่อภาคเศรษฐกิจ ในอนาคตการขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ formal education อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ระบบพัฒนาคนของประเทศจะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการทำให้การศึกษาที่มีคุณภาพหรือการพัฒนาทักษะ ทั้ง Reskill Upskill ให้เข้าไปถึงคนแต่ละกลุ่มโดยไม่มีข้อจำกัดด้วย” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ดร.กิติพงค์ ได้ชี้ให้เห็นแนวทางสำคัญ 3 ส่วน ที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคนสู่ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพ ได้แก่ 1) การจัดการศึกษาในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ เป็นระบบใหม่ในการพัฒนากำลังคน ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน เพื่อผลิตคนให้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือภาคผู้ใช้บัณฑิต ตัวอย่างเช่น หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตกำลังคนร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือการทำงานแบบ co-creation ผ่านการร่วมออกแบบหลักสูตรที่ใส่ความต้องการกำลังคนที่ภาคเอกชนต้องการจริงลงไป เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในทักษะเหล่านั้นสามารถออกไปทำงานได้เลยโดยไม่ต้องรอจบ 4 ปี และได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับทักษะที่มี แต่หากในอนาคตต้องการเพิ่มเติมทักษะเพื่อปรับตำแหน่งงานให้สูงขึ้นก็สามารถกลับเข้ามาเรียนได้ โดยนำหน่วยกิตที่เรียนแล้วฝากไว้กับธนาคารหน่วยกิต เมื่อครบตามข้อกำหนดก็จะสามารถรับปริญญาได้ทันที

2) การจัดทำแพลตฟอร์มด้านการศึกษาและการพัฒนาทักษะ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งการจัดทำแพลตฟอร์มนั้นจะมีต้นทุนต่ำ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เวลาใด ลดข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะกำลังคนได้อย่างทั่วถึง โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มพัฒนา soft skill ที่ให้นักศึกษาเข้าถึงได้ฟรีผ่านระบบออนไลน์ รวบรวมคอร์สเอาไว้กว่า 300 คอร์ส รองรับนักศึกษาได้กว่า 2 ล้านคน โดยดึงคอร์สที่น่าสนใจมาจากภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาพัฒนาทักษะให้กับเด็ก และ 3) การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน หรือ Work-integrated Learning (WiL) เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทำงานจริงร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้จากการทำงานและมีรายได้ในระหว่างเรียน หรือการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาบริษัท SME ที่มีการเติบโตในระดับกลาง ผ่านการดึงนักศึกษาในระดับปริญญาตรีเข้าไปอยู่ในโรงงาน จัดการเรียนการสอนผ่านการให้โจทย์ที่เกิดขึ้นจริงในโรงงาน โดยมีเมนเทอร์คอยให้คำแนะนำกับเด็ก ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำให้บริษัทยกระดับรายได้จาก 500 ล้านบาทขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาทได้ จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความต้องการสูงขึ้นจากเดิม ช่วยตอบโจทย์และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น การทำงานร่วมกันแบบ co-creation ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษาจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยพัฒนากำลังคนในอนาคตของประเทศได้อย่างมีคุณภาพ

เรื่องล่าสุด