×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » เด็กจบใหม่ กว่าจะจบได้ ต้องสู้ เพื่อมีงานดีๆ ทำ แต่ตำแหน่งที่มี ดันสู้กลับ?

เด็กจบใหม่ กว่าจะจบได้ ต้องสู้ เพื่อมีงานดีๆ ทำ แต่ตำแหน่งที่มี ดันสู้กลับ?

วันที่เผยแพร่ 20 เมษายน 2022 1949 Views

กว่าจะฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนเรียนจบมาได้นั้น

ต้องตั้งใจเรียนหลากวิชา อดหลับอดนอนทำโปรเจคมากมาย

เพื่อมีงานดีๆรองรับ ได้ทำงานในตำแหน่งหรือองค์กรในฝัน

แต่อาจจะไม่เป็นไปตามฝันของบัณฑิตจบใหม่บางคน บางสายอาชีพ ที่การหางานในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนจบปริญญาตรีมา แต่ต้องยอมทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาที่จบมา เพราะตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านการใช้ชีวิต ด้านธุรกิจ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงการจ้างงานที่ส่งผลให้มีตำแหน่งงานลดลง หรือแรงงานมีทักษะที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการ

จากข้อมูลรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่ามีจำนวนผู้ว่างงานถึง 6.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.64% สำหรับผู้ว่างงานที่ไม่ใช่ First jobber มีจำนวน 3.8 แสนคน ซึ่งลดลง 21.7%

ขณะเดียวกัน ผู้ว่างงานที่เป็นแรงงานจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่จบระดับอุดมศึกษา โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 49.3 จบการศึกษาในสาขาทางด้านธุรกิจและสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาตลาดแรงงาน ในด้านทักษะ ไม่สัมพันธ์กันกับตำแหน่งอาชีพที่มีอยู่ในปัจุบัน และสืบเนื่องไปยังตลาดแรงงานในอนาคต

อีกทั้งยังระบุว่าสถานการณ์ด้านแรงงานได้รับผลกระทบ COVID-19 ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 ส่งผลให้แรงงานทั่วไปถูกจ้างงานลดลง 0.6% แต่ในทางกลับกันแรงงานในภาคเกษตรกรรมกลับมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.8% จากการที่ดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

สภาพัฒน์ ยังได้เสนอถึงประเด็นสำคัญที่ต้องส่งเสริม และสนับสนุนตลาดแรงงานในอนาคต นั่นก็คือการเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการฟื้นตัว SMEs เพิ่มการสร้างอาชีพในชุมชนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีมาตรการจูงใจให้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน เพื่อให้มีหลักประกันทางสุขภาพที่มั่นคง การปรับโครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รวมถึงต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการในภาคธุรกิจ และท้องถิ่น เพื่อลดปัญหาแรงงานจบใหม่ที่ไม่มีงานทำ นอกจากนี้ยังยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกด้วย

ภาวะเด็กจบใหม่หางานยาก และอาจเลือกงานทำได้น้อยลง ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ต้นทางนั่นก็คือการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด ผ่านการจัดการศึกษาที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด สอดคล้องต่อสถานการณ์โลก และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

กระทรวง อว. สอวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย กลไก และมาตรการด้านการอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมในการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพ ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศ อาทิ ข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox การรับรองหลักสูตรฝึกอบรม และการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสนับสนุนทางภาษีภายใต้โครงการ Thailand Plus Package ที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับ และพัฒนาทักษะของบุคลากรผ่านรูปแบบการฝึกอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจากกระทรวง อว. รวมทั้งการส่งเสริมการให้เกิดการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูง ซึ่งมาตรการทางภาษีที่สนับสนุนประกอบด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 250% สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม หรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ที่ผ่านการรับรองโดย อว. และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติมการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมและการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ภายใต้โครงการ Thailand Plus Package : https://www.stemplus.or.th/home

แหล่งที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=5492#

เรื่องล่าสุด