×

การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก.

วันที่เผยแพร่ 9 ธันวาคม 2021

รายงานการศึกษาเรื่อง_การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต _Lifelong learningสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตไปสู่รูปแบบวิถีชีวิต แบบหลายช่วง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การแทนที่แรงงานด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ รูปแบบการเรียนรู้ที่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สังคมดิจิทัล สถานการณ์ช่วงชิงแรงงานทักษะสูง และสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 ได้ส่งผลต่อนัยการพัฒนาประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และเทคโนโลยีและถือเป็นตัวเร่งสำคัญต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้ ตลอดชีวิตของประเทศไทย ให้มุ่งเน้นไปที่การจัดการศึกษาที่ครอบคลุมการศึกษาทั้งระบบและกลุ่มคนทุกช่วงอายุ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ทักษะและศักยภาพที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและสามารถพัฒนาตนเอง ได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลกได้

สอวช. จึงได้จัดทำรายงานการศึกษา เรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อรองรับการพลิกโฉมฉับพลันและวิกฤตการณ์โลก โดยได้วิเคราะห์สถานการณ์ของโลก และนัยที่มีต่อการปรับตัวของประเทศไทยในมิติที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ตลอดชีวิต วิเคราะห์สถานการณ์ความจำเป็นและความต้องการด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดทำข้อเสนอแนะ นโยบายด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงตัวอย่างกลไกการดำเนินงาน ที่มุ่งตอบกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ครอบคลุม ทุกช่วงวัย ประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน เน้นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาที่จำเป็น ต้องได้รับการสร้างทักษะอาชีพและทักษะชีวิต เพื่อเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป กลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่จำเป็นต้องได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดงาน โดยเฉพาะนักศึกษา ในหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ กลุ่มกำลังแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบที่จำเป็นต้องปรับตัว ให้ทันต่อความรู้และทักษะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกลุ่มผู้สูงวัยและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุที่ต้องการ การเตรียมความพร้อมด้านทักษะสำหรับการใช้ชีวิต การเข้าสังคม และการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในวัยสูงอายุ รวมถึงการออกแบบกลยุทธ์สำหรับสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะกลุ่ม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบด้วย กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ โดยรายงานการศึกษานี้จะถูกนำไปพัฒนาเป็นนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป

การศึกษาวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประจำปี 2563