×

การพัฒนาระบบนิเวศการร่วมลงทุนในธุรกิจฐานนวัตกรรมของประเทศไทย: เร่งยกระดับประเทศไทยสู่สเกลอัพ 2030

วันที่เผยแพร่ 10 มีนาคม 2022

สมุดปกขาวฉบับนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่าง สอวช. และทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านนวัตกรรมและผู้ประกอบการ อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย Startups, VCs, Innovation Club ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและเอกชน

ผลการศึกษาวิจัยเชิงลึกของระบบนิเวศการร่วมลงทุนในธุรกิจฐานนวัตกรรมในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543-2564 ได้ระบุเป้าหมายสร้างบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูงหรือสเกลอัพมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเติบโตของ GDP ประเทศไทย พร้อมประเด็นความท้าทายและโอกาสจากผลการสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมจากอดีตถึงปัจจุบัน สรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จ ข้อเสนอกลไกพัฒนาระบบนิเวศการร่วมลงทุนที่สอดรับกับความต้องการและลดความเสี่ยงให้กับผู้มีส่วนได้เสียสำคัญในระบบนิเวศนี้ อีกทั้งเสนอนโยบายและแนวทางเร่งให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่มีธุรกิจสตาร์ทอัพ สามารถสเกลอัพได้ภายในปี 2573 ด้วยความร่วมมือกันของภาคเอกชน รัฐ มหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์เส้นทางสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศไทย โดยกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ กลยุทธ์บริหารทุนมนุษย์ความสามารถสูง (Talent) กลยุทธ์ส่งเสริมการสเกลอัพ (Ease of Doing Scale-Up) และกลยุทธ์การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง (Availability of Funding)

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำการร่วมลงทุนกับธุรกิจฐานนวัตกรรมผ่านกลไก Holding Company เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงทุนที่สามารถนำมาใช้เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ สร้างงาน และสร้างอุตสาหกรรมสาขาใหม่เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศในระยะยาว จากผลการศึกษานี้ สอวช. จะได้นำมาจัดทำมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาในการจัดตั้งและดำเนินการ Holding Company ได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

สอวช. มีเป้าหมายในการเร่งขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน (Scale-Up) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา และพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ