messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. และ มหาวิทยาลัยทักษิณ เดินหน้าจัดกิจกรรมสร้างโค้ชผู้ประกอบการเพื่อสังคม มุ่งสร้างโค้ชต้นแบบเพื่อขับเคลื่อนผู้ประกอบการเพื่อสังคมในระดับพื้นที่

กระทรวง อว. โดย สอวช. และ มหาวิทยาลัยทักษิณ เดินหน้าจัดกิจกรรมสร้างโค้ชผู้ประกอบการเพื่อสังคม มุ่งสร้างโค้ชต้นแบบเพื่อขับเคลื่อนผู้ประกอบการเพื่อสังคมในระดับพื้นที่

วันที่เผยแพร่ 20 พฤษภาคม 2025 33 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ฝ่ายห้องปฏิบัติการนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ คณะสหวิทยาการและการประกอบการ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดโครงการอบรมด้านการพัฒนาทักษะการโค้ชเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ครั้งที่ 4 “Coaching for Trainers” เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

ตลอดระยะเวลาโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งด้านหลักการโค้ช เครื่องมือ (FAST/GROW/PQC) ผ่านการปฏิบัติจริงจากการจัดทำ Inception plan สำหรับองค์กรหรือวิสาหกิจชุมชนที่ผู้เข้าร่วมอบรมให้ความสนใจ สาระสำคัญประกอบด้วย 1) วิเคราะห์กระบวนการทางธุรกิจขององค์กรต้นแบบด้วยห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) และ Business Life Cycle (BLC) 2) วิเคราะห์โมเดลธุรกิจขององค์กรต้นแบบด้วยตาราง 11 ช่อง หรือ Social Business Model Canvas (SBMC) 3) สรุป Pain point ขององค์กรต้นแบบ และ 4) จัดทำแผนพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมยังได้ถอดบทเรียนในแต่ละกิจกรรม workshop เรียนรู้ถึงบทบาทและทักษะการโค้ชเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมใน 3 บทบาท ได้แก่ Trainer, Consultant และ Coach

ซึ่งนำมาสู่กิจกรรมวันสุดท้ายของโครงการอบรมพัฒนาทักษะการโค้ชเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคม จุดมุ่งหมายเพื่อสรุปภาพรวมการดำเนินงาน และเปิดเวทีให้ผู้เข้าอบรมได้นำเสนอผลการทดลองแผนพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อสังคม โดยใช้กระบวนการ Group coaching เพื่อให้การดำเนินงานไปสู่เป้าหมายตอบโจทย์ตรงบริบทชุมชนมากที่สุด โดยที่กลุ่ม A นำเสนอ Inception plan สำหรับวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี (Varni) พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็นของเล่นนกสู่ตลาดสัตว์เลี้ยง การจัดทำ “แคร์การ์ด” พร้อมกลยุทธ์ด้วยตลาดดิจิทัล และการยกระดับอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อขยายฐานตลาดไปต่างประเทศ และกลุ่ม B นำเสนอ Inception plan สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลควนขนุน มุ่งส่งเสริมเครื่องประดับ “เข็มกลัดลายลูกแก้ว” พัฒนาสินค้ารายตัวกลุ่มเข็มกลัดด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบวิธีการร้อยที่เฉพาะลาย พัฒนาทักษะกลุ่มผู้ผลิตด้วยหลักสูตรการฝึกอบรม และการจัดทำบัญชีผ่านโปรแกรม Microsoft Excel

กิจกรรมในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้มอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ผ่านการอบรม เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนบทบาทของผู้ผ่านการอบรมในการเป็นโค้ชเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อสังคมในพื้นที่ต่อไป

เรื่องล่าสุด