
(21 เมษายน 2568) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ร่วมเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดสดโครงการจัดประชุมทางไกล “แนะแนวเพิ่มกลยุทธ์การเลือกคณะให้ปัง ฟังใจตัวเองให้เป็น เรียนแล้วมีความสุข มีงานทำ” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

นางสาวภาณิศา ได้กล่าวถึง สถานการณ์ และทิศทางตลาดแรงงานของโลก โดย สอวช. ได้ดำเนินการสำรวจและศึกษาความต้องการของบุคลากร และคาดการณ์ความต้องการแรงงานในอีก 5 ปีข้างหน้า ผ่านโครงการสำรวจและศึกษาความต้องการบุคลากรทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2568-2572 (Thailand Talent Landscape 2025-2029) เป็นการรวบรวมข้อมูลความต้องการจากฝั่งผู้ประกอบการ เพื่อให้เห็นตำแหน่งงานและสมรรถนะที่ต้องการ ซึ่งในฝั่งภาครัฐก็จะเป็นประโยชน์ในการนำมากำหนดนโยบาย ทิศทาง แนวทางในการพัฒนากำลังคนของประเทศ

ในส่วนความต้องการกำลังคนตามตำแหน่งงานและทักษะที่ต้องการในระยะ 5 ปี จะมีความต้องการในตำแหน่งอาชีพเฉพาะอยู่ 1,087,548 คน แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและอาหารอนาคต อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง เคมี เทคโนโลยีชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียว อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ เป็นกลุ่มที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการตำแหน่งงานสูงที่สุด
นางสาวภาณิศา ยังได้ยกตัวอย่างอาชีพและทักษะที่มีความต้องการสูงในแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง อย่างอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและอาหารแห่งอนาคต อาชีพที่ต้องการสูงคือ ตัวแทนขาย นักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร นักการตลาดอาหาร นักวิเคราะห์ทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบคุณภาพอาหาร ทักษะและความรู้ที่ต้องการก็จะเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์อาหารและเทคโนโลยี รวมถึงการออกแบบนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ ๆ มีองค์ความรู้ในเรื่องของมาตรฐานเรื่องอาหารและยา หรือศาสตร์ด้านสารอาหาร และในส่วนอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คืออุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาชีพที่ต้องการมากที่สุดคือ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ นักเขียนคำโฆษณา กองบรรณาธิการ กราฟิกดีไซเนอร์ โดยต้องมีทักษะในด้านการตลาดดิจิทัล มีทักษะด้านการออกแบบ องค์ความรู้เรื่องสื่อและดิจิทัล รวมถึงการบริหารจัดการเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

นอกจากนี้ นางสาวภาณิศา ยังได้นำเสนอให้เห็นว่าในปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีการปรับตัว มีการจัดการเรียนการสอนให้ได้มาซึ่งทักษะหรือสมรรถนะที่ตอบโจทย์อนาคตมากยิ่งขึ้น ผ่านการเชื่อมโยงเพื่อสร้างโอกาสให้นักศึกษาในการเข้าสู่โลกของการทำงานจริง โดยแนวโน้มโลกที่ส่งผลต่อการผลิตและการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศไทย
“มหาวิทยาลัยได้ปรับเพิ่มบทบาทในการดูแล Non-age group เพิ่มเติมจากการสอนในระบบแบบเดิม และปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กมากขึ้น มีรูปแบบ Agile learners ที่ไม่ใช่การนั่งเรียนแบบเดิม แต่มีการทำงานควบคู่ไปด้วย อีกทั้งยังมีการออกแบบหลักสูตรแบบ Personalized Education ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการนำเอาแพลตฟอร์มดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม นำไปสู่การได้งานทำ ตามทิศทางอาชีพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น” นางสาวภาณิศา กล่าว

มหาวิทยาลัยยังได้ปรับการเรียนการสอน โดยนำความต้องการจากฝั่งผู้ใช้บัณฑิตหรือสถานประกอบการ มาเป็นส่วนสำคัญในการปรับหลักสูตร โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีเครื่องมือที่หลากหลาย ที่จะเข้าไปช่วยตอบความต้องการของตลาดแรงงานโดยปรับให้เข้ากับการเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยมีนวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ 1. Higher Education Sandbox การผลิตกำลังคนรูปแบบพิเศษ การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเกณฑ์มาตรฐานอุดมศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา 2. Industrial Tailor-made Training การสร้างและยกระดับควาสามารถของกำลังแรงงานในการแก้ปัญหาและพัฒนา และเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่บัณฑิตในภาคการผลิตและบริการ 3. Bootcamp and Job placement การพัฒนาทักษะการทำงานแบบเข้มข้นและตรงกับความต้องการ เพื่อนำไปสู่การจ้างงาน และ 4. National credit bank ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ เป็นกลไกสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างโครงการสำคัญ เช่น การนำร่อง Skill mapping platform โดยฟังเสียงจากฝั่งผู้ประกอบการว่ามีความต้องการอาชีพหรือทักษะอะไร มาเป็นข้อมูลให้มหาวิทยาลัยปรับกระบวนการจัดการเรียนการสอน ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน ให้เกิดทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการ และมีการประเมินผลว่าหลักสูตรดังกล่าวสร้างบัณฑิตได้ตอบโจทย์และมีทักษะที่สอดคล้องตามความต้องการจริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ (GenNX Model) การจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการกับการทำงาน (Work0integrated Learning: WiL) การเรียนรู้สลับกับการทำงานจริง และมีแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงมหาวิทยาลัย สถานประกอบการ หน่วยงานให้สิทธิประโยชน์ ทั้งเงินสนับสนุน หรือการลดหย่อนภาษี เพื่อสร้างคนให้มีทักษะหรือสมรรถนะที่เป็นแนวโน้มและความต้องการผ่านแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง (STEMPlus) เป็นต้น

ขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)