×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » บพค. เดินหน้าพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เผยปี 2563 – 2564 ผลงานได้ตามเป้า มั่นใจช่วยพัฒนากำลังคน นำไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง ในปี 2570

บพค. เดินหน้าพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เผยปี 2563 – 2564 ผลงานได้ตามเป้า มั่นใจช่วยพัฒนากำลังคน นำไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูง ในปี 2570

วันที่เผยแพร่ 12 ธันวาคม 2021 1495 Views

ดร.วรินธร สงคศิริ รักษาการผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) รายงานผลการดำเนินงานในรอบปี 2563 – 2564 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน โดยระบุว่า บพค.เป็นหน่วยขับเคลื่อนแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนากำลังคนแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กำลังคนที่ทำหน้าที่สร้างความรู้และแก้ปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ทั้งนวัตกรรมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ ฯลฯ (Brain Power) อีกกลุ่มคือ กำลังคนที่เป็นกำลังขับเคลื่อนงานในองค์กร ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามบทบาทและภารกิจขององค์กร ซึ่งรวมทั้งกลุ่มคนที่ทักษะสูง และกลุ่มคนที่เป็นแรงงานขับเคลื่อนผลผลิต (Manpower)

1. ระบบผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ผ่าน 4 แผนงาน ได้แก่ 1) การสร้างระบบบ่มเพาะนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก หลังปริญญาโท และปริญญาโท ที่มีสมรรถนะตรงตามความต้องการและพร้อมทำงานตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย บีซีจี พลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร อาหารพลังงานและวัสดุชีวภาพ 2) การพัฒนาระบบรองรับการขยายผลหลักสูตรอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่เชื่อมโยงสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการการเรียนรู้ที่ทำงาน (Work-integrated Learning, WiL) เพื่อพัฒนาบัณฑิตที่มีทักษะและคุณลักษณะตรงกับที่ตลาดงานต้องการ และนำไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 3) การสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ไปปฏิบัติงานภาคอุตสาหกรรม เพิ่มจำนวนอาจารย์ที่พร้อมทำงานกับภาคอุตสาหกรรม และให้นักศึกษามีโอกาสฝึกทำงานในสถานประกอบการจริง รวมถึง 4) การวางแผนกลไกและการสร้างระบบนิเวศในการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ/ผู้มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย 

ดร.วรินธร กล่าวว่า ในปี 2564 บพค. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ภายใต้ 8 โปรแกรม 16 แผนงาน เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมระบบการพัฒนากำลังคน การวางรากฐานการวิจัยขั้นแนวหน้า (frontier research) และเพิ่มโอกาสให้ประเทศมีเทคโนโลยีใหม่เพื่อสร้างอุตสาหกรรมและกิจการแห่งอนาคตในสาขาที่ทุกคนมีโอกาสแข่งขันเท่า ๆ กัน ประกอบด้วย

2. การพัฒนากำลังคนระดับสูงรองรับ อีอีซี และระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ สนับสนุนการสร้างระบบพัฒนากำลังคนจำนวนมากสำหรับอุตสาหกรรมหลักในโครงการอีอีซี เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมดิจิตอล ฯลฯ เกิดบุคลากรที่มีความสามารถและสมรรถนะตามที่ต้องการ ในเวลาที่จำกัด และเร็วขึ้นกว่าการผลิตกำลังคนด้วยกระบวนการจัดการศึกษาแบบปกติ (Quick Response)  

3. การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต สนับสนุนการพัฒนากลไกและมาตรการที่ช่วยเพิ่มพูนสมรรถนะใหม่ ๆ รองรับอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก โดยพัฒนาระบบฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรวัยทำงาน พัฒนาแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนที่ยกระดับภาคการศึกษาให้ผลิตบุคลากรตรงตามความต้องการในรูปแบบ GenNX Model และพัฒนานวัตกรรมของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างทักษะและสมรรถนะในอนาคต ให้สามารถปรับตัวในการประกอบอาชีพหรือเพิ่มศักยภาพตนเอง

4. การส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความตระหนักและความรู้ความสามารถด้าน AI จนถึงขั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจของประชาชนทุกระดับ และพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ด้าน AI ที่เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีที่จำเป็น และเพิ่มบุคลากรวิจัยระดับสูงและสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

5. การส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประกอบด้วย 4 แผนงานสำคัญ ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 และยังคงได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1) แผนงานข้อริเริ่มการวิจัยขั้นแนวหน้าประเทศไทย สามารถสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่นำไปสู่เทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และผลิตทีมวิจัยที่เข้มแข็งและทำงานวิจัย frontier research ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านชีวภาพ การแพทย์ วิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ 2) แผนงานสร้างโอกาสและความสามารถในการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีควอนตัม สนับสนุนกลุ่มวิจัยควอนตัมเชิงลึกและควอนตัมประยุกต์ เกิดกลุ่มวิจัยที่มีความเข้มแข็งทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายด้านเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีตาม roadmap ระยะ 10 ปี ของประเทศ รวมทั้งพัฒนาต้นแบบ quantum devices/algorithms และคาดว่าจะพัฒนาให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อีกใน 6 – 10 ปี ต่อไป เช่น ออกแบบและทดสอบระบบนาฬิกาอะตอมเชิงแสง เพื่อใช้ในการกักขังไอออน และถ่ายภาพไอออน  เครื่องสร้างจำนวนสุ่มเชิงควอนตัม ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่กุญแจสำหรับการเข้ารหัสการสื่อสารปลอดภัยสูง  ประดิษฐ์อัลกอริทึมเชิงควอนตัมสำหรับการจัดกลุ่มข้อมูลในมิติที่สูงมากเพื่อใช้ในคอมพิวเตอร์ควอนตัม ฯลฯ

3) แผนงานสร้างโอกาสและความสามารถในการเข้าสู่การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านอวกาศและดาราศาสตร์ สนับสนุนการพัฒนานักวิจัยและวิศวกรขั้นสูงที่มีความสามารถในการออกแบบและสร้างดาวเทียมที่สามารถเข้าสู่วงโคจรและควบคุมการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบ satellite control system ของ TSC-P และทดสอบระบบ flight software ของดาวเทียม ขนาด 50 กิโลกรัม

และ 4) แผนงานการยกระดับคุณภาพและสมรรถภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ด้วย มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA)  สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า/กระบวนทัศน์ใหม่ ทางด้าน SHA ที่สามารถนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทสังคมไทย และเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของอนาคตในมิติต่าง ๆ เช่น มิติของโลกดิจิทัล มิติทางภาษาและวรรณกรรม มิติทางศิลปะ มิติทางจริยธรรม มิติทางสังคมและการเมือง เป็นต้น รวมทั้งมีการสนับสนุนการวิจัยเพื่อทดสอบแบบจำลอง/ทดลองปฏิบัติการ สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่นโยบายการให้ทุนด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่มีทิศทาง มีการพัฒนานิเวศความรู้อย่างเป็นองค์รวมต่อไป    

6. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่สำคัญ โดยสนับสนุนการวิจัยเพื่อให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ในการพิจารณาและตัดสินใจการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยในสเกลใหญ่ (Big Science) กำหนดทิศทางในการจัดสรรงบประมาณสำหรับจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาด้านความซ้ำซ้อน นำไปสู่การเพิ่มความคุ้มค่าของการลงทุน การจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซมหรือจัดหาทดแทนที่ทันต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงจัดให้มีกลไกเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่

7. การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการสร้างความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยไทยให้มีบทบาทในเวทีโลก โดยสนับสนุนทั้งสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ใน 3 ระดับ ได้แก่ 1) Partnership Initiative Fund 2) Network Strengthening Fund และ 3) Organizational Bridging Fund จำนวนรวม 41 เครือข่าย รวมทั้งสนับสนุนในรูปแบบ Matching Fund กับหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น Southeast Asia-Europe Joint Funding Scheme for Research and Innovation และ e-Asia เป็นต้น และ

8. การแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ มุ่งเน้นสนับสนุน Frontier Research และการพัฒนาระบบการสร้างความสามารถเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติได้ในเวลาอันสั้น และวางแผนรองรับภาวะวิกฤติที่เกิดจากโรคระบาดใหญ่ในอนาคตในมิติต่าง ๆ ได้ ตลอดจนองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะนำไปสู่การทำนายศักยภาพการแพร่ของไวรัสที่อาจก่อโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนโดยตรง หรือการผ่านสัตว์อื่น (intermediate host) ก่อนเข้าสู่คน

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2565 นั้น ดร.วรินธร กล่าวว่า บพค. ดำเนินงานต่อเนื่องจากปี 2563 และ 2564 เน้นโครงการสำคัญทั้งการสนับสนุนการสร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น ฟิสิกส์พลังงานสูง และยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการสร้างความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทย เพื่อขับเคลื่อนงานของ บพค. ที่ต้องพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง

Tags:

เรื่องล่าสุด