×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. – บพค. – มจธ. เปิดหลักสูตรเฉพาะระยะสั้นด้านนโยบาย อววน. ดึงนักวิชาการเสริมความรู้แนวทางการทำนโยบายอุตสาหกรรม สร้างขีดความสามารถภาครัฐ ขับเคลื่อนเอกชนสู่การแข่งขันในระดับโลก

สอวช. – บพค. – มจธ. เปิดหลักสูตรเฉพาะระยะสั้นด้านนโยบาย อววน. ดึงนักวิชาการเสริมความรู้แนวทางการทำนโยบายอุตสาหกรรม สร้างขีดความสามารถภาครัฐ ขับเคลื่อนเอกชนสู่การแข่งขันในระดับโลก

วันที่เผยแพร่ 9 กันยายน 2021 581 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น เฉพาะทางด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 6-23 กันยายน 2564 เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ได้มีโอกาสรับทราบนโยบายและมาตรการ รวมถึงกลไกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบ อววน. และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และการสร้างเครือข่ายในการทำงานในอนาคต สำหรับการอบรมวันแรกในหลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Management)ได้รับเกียรติจาก ดร. แบ๊งค์ งามอรุณโชติ STIPI มจธ. เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “นโยบายอุตสาหกรรมเพื่อการไล่กวดทางเทคโนโลยีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Industrial Policy for Technology Catching-up in Developing Countries)” มีผู้เข้าร่วมการอบรมกว่า 60 คน

ดร. แบ๊งค์ เริ่มการบรรยายด้วยการให้นิยามของนโยบายอุตสาหกรรมว่า เป็นนโยบายที่รัฐทำขึ้นเพื่อที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเฉพาะเจาะจง สนับสนุนอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ผ่านมาตรการต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงตามสาขาของอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งรัฐต้องเป็นผู้ขับเคลื่อน และเข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงรุก โดยการทำนโยบายอุตสาหกรรมนั้นจะให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือการทำสินค้าและบริการแบบสาธารณะทั่วไป แต่จะลงไปในระดับหน่วยผลิตหรือกลุ่มบริษัทต่างๆ เพื่อมุ่งเน้นให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีขีดความสามารถในการผลิต การแข่งขันและการจำหน่ายที่สูงขึ้น จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตของประเทศในที่สุด

เมื่อพูดถึงความจำเป็นในการทำนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐ ในบริบทการพัฒนาเศรษฐกิจ แบ่งออกได้เป็น 5 ข้อหลัก ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต้องการความร่วมมือของผู้เล่นที่หลากหลาย ถ้ารัฐเข้ามาทำนโยบายอุตสาหกรรมเป็นคนกลางก็จะทำให้การประสานความร่วมมือเหล่านั้นทำได้ราบรื่น รวดเร็วและมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น 2) การที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมหนึ่งจะขึ้นมาทำการผลิต มีความสามารถทางการแข่งขัน จนเป็นหัวจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับประเทศได้ต้องใช้เวลาในการสั่งสมขีดความสามารถ ในช่วงแรกรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้บริษัทเติบโตต่อไปได้ 3) ความเสี่ยงเรื่องของความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้เราต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ จึงเป็นข้อเสนอทางทฤษฎีว่าการทำนโยบายอุตสาหกรรมจะเข้ามาช่วยในการสนับสนุนภาคเอกชนได้ 4) จากการถอดบทเรียนพบว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ประเทศที่ประสบความสำเร็จโดยวัดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ จนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีรายได้สูงและมีเทคโนโลยีสูง ล้วนแต่เป็นประเทศที่ทำนโยบายอุตสาหกรรม และ 5) แม้แต่ประเทศโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ในยุค 80-90 เลือกที่จะไม่ทำนโยบายอุตสาหกรรม แต่เมื่อไปดูกลไกการทำงานจริงพบว่ามีการใช้นโยบายอุตสาหกรรมแบบหลบซ่อน เนื่องจากมีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะของรัฐ ที่เข้ามาสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัยในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และใส่เงินลงมาสนับสนุนนวัตกรรมเหล่านั้น เพื่อจะผลักดันออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ นโยบายอุตสาหกรรมในอเมริกาจึงเปลี่ยนจากการหลบซ่อนมาสู่การทำอย่างเปิดเผยมากขึ้นในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันในมุมของกลุ่มที่โต้แย้งการทำนโยบายอุตสาหกรรม ส่วนแรกเสนอว่า การทำนโยบายอุตสาหกรรม ควรเริ่มจากเรื่องทั่วไป เป็นกลาง และไม่ลำเอียงก่อน เพื่อไม่ให้มีผู้ได้รับประโยชน์แบบพิเศษในบางอุตสาหกรรมเหนือกว่าผู้เล่นคนอื่น โดยหันไปลงทุนเรื่องระบบการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธโดยนักวิชาการหลายคนที่มองว่า แม้แต่โครงสร้างพื้นฐานหรือการศึกษาก็ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบและลำเอียงต่อบางอุตสาหกรรมเสมอ ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับการตัดสินใจที่ชัดเจน การมีหลักการที่ดี และมีความรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาให้ชัดเจนมากกว่า ในส่วนที่สอง เป็นข้อโต้แย้งในด้านความล้มเหลวของภาครัฐ นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับบทบาทของรัฐในการทำนโยบายอุตสาหกรรมมองว่า รัฐอาจมีขีดความสามารถไม่พอที่จะทำนโยบายอุตสาหกรรม และเมื่อไม่มีขีดความสามารถที่จะทำก็จะล้มเหลวในการขับเคลื่อนนโยบาย ในส่วนนี้เป็นข้อโต้แย้งที่สามารถรับฟัง เพื่อนำมาออกแบบนโยบายอุตสาหกรรมให้รัดกุม มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลมากขึ้น ลดโอกาสเกิดความล้มเหลวของรัฐหรือปัญหาด้านธรรมาภิบาลให้น้อยลง

โดยการออกแบบนโยบายอุตสาหกรรมในหลายระดับ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากข้อโต้แย้งข้างต้นนั้นมี 3 ระดับด้วยกัน ระดับแรก คือ State Capacity การจะทำนโยบายอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จรัฐต้องมีขีดความสามารถสูงเพียงพอ โดยทั่วไปแล้วหมายถึง 5 มิติ ได้แก่ 1) ขีดความสามารถในการสร้างเครือข่าย ช่วยทำให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักในแต่ละอุตสาหกรรมสามารถผลิตได้เก่งขึ้น รัฐต้องสร้างเครือข่ายที่จะเข้าไปสนับสนุน 2) ขีดความสามารถในการคิดนโยบาย รัฐต้องมีคลังสมองเป็นของตัวเอง มองขาดในอุตสาหกรรมที่อยากเข้าไปสนับสนุน มีข้อมูลที่จะสามารถสร้างนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมนั้นได้ 3) มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบาย มีความเข้มแข็งพอที่จะผลักดันนโยบายไปได้ 4) มีขีดความสามารถในการปรับนโยบายได้อย่างรวดเร็ว เมื่อทำผิดพลาด และยังสามารถทำงานต่อไปได้ และ 5) ขีดความสามารถในการธำรงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเมือง เพราะภาพรวมของประเทศมีผลอย่างมากต่อความเร็วในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรายสาขา

ระดับที่สอง คือ Institutional Setting หรือการออกแบบเชิงสถาบันที่ทำให้การทำนโยบายอุตสาหกรรมสามารถทำได้อย่างเหมาะสม ในหลายประเทศที่ทำนโยบายอุตสาหกรรม ใช้การขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานที่มีลักษณะครอบคลุมในระดับหนึ่งคือ จัดการทั้งด้านการวิจัย กำลังคน งบประมาณ เป็นหน่วยงานกลางที่ดูประเด็นภาพรวม และขับเคลื่อนด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างรอบด้าน องค์กรที่มีขีดความสามารถสูงในภาครัฐ ซึ่งสามารถจะทำนโยบายอุตสาหกรรมได้ เรียกว่าเป็น Pockets of Competence (POC) หรือกระเปาะของขีดความสามารถภายในรัฐ เมื่อมีหน่วยงานที่มีขีดความสามารถสูงแล้ว หน่วยงานเหล่านี้ต้องไปร่วมกันทำงานกับภาคเอกชนในการทำนโยบายอุตสาหกรรม ซึ่งการจะทำนโยบายอุตสาหกรรมให้ดี ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานและภาคเอกชนต้องเป็นความสัมพันธ์ที่เหมาะสมด้วย คือในด้านหนึ่งรัฐต้องดึงภาคเอกชน ภาคประชาสังคมเข้ามาในกลไกการมีส่วนร่วมในการทำนโยบายหรือการพัฒนา แต่อีกด้านหนึ่งรัฐต้องมีอิสระที่จะขับเคลื่อนนโยบายเหล่านั้นด้วย

ระดับสาม คือ Core Principles of Industrial Policies เป็นหลักการสำคัญในการออกนโยบายอุตสาหกรรม ก่อนที่จะเข้าไปถึงนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา แบ่งได้เป็น 1) Directionality การเลือกทิศทางอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพยากรและค่าใช้จ่ายที่มีจำกัด 2) Touch upon Firms คือการที่รัฐต้องเข้าไปเห็นถึงขีดความสามารถของบริษัท เข้าไปดูว่าผลิตสินค้าอะไร มีโครงสร้าง มีกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้มากที่สุด 3) Good Governance การคำนึงถึงธรรมาภิบาลที่ดี และ 4) Socializing risks and benefits การคำนึงถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่มีต่อสังคม ลดปัญหาความไม่เท่าเทียม

นอกจากหัวข้อการบรรยายเกี่ยวกับนโยบายอุตสาหกรรมแล้ว การฝึกอบรมในหลักสูตรย่อยด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังมีประเด็นการบรรยายอื่นๆ ที่น่าสนใจ ที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำไปเป็นส่วนสำคัญในแนวทางการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับ อววน. และนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด