×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เอนก” ก้าวข้ามกรอบทำงานรูปแบบเดิม อนุญาตบัณฑิตทุน พสวท. ใช้ทุนด้วยการทำงานในภาคเอกชน เดินหน้าร่วมเอกชนพัฒนาไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี

“เอนก” ก้าวข้ามกรอบทำงานรูปแบบเดิม อนุญาตบัณฑิตทุน พสวท. ใช้ทุนด้วยการทำงานในภาคเอกชน เดินหน้าร่วมเอกชนพัฒนาไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี

วันที่เผยแพร่ 1 กันยายน 2021 2088 Views

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมบัณฑิตทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน ว่า ภาคเอกชนนับเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนในการลงทุนวิจัยและพัฒนากว่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของการลงทุนวิจัยและพัฒนาทั้งหมดของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนก็ต้องเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อให้สามารถรองรับการลงทุนวิจัยและพัฒนาได้ การปลดล็อกเพื่อให้บัณฑิตทุนไปทำงานภาคเอกชน จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนที่มีศักยภาพสูงของภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ อว. ได้ร่วมมือกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงความต้องการของภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยของรัฐและบัณฑิตทุนเข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ Talent Thailand Platform ที่มีทั้งระบบการวิเคราะห์ข้อมูลกำลังคนที่มีศักยภาพสูงที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายและงานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนาแพลตฟอร์มการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศ โดยในการดำเนินงานจะมีการส่งเสริมให้บัณฑิตทุนทุกคนได้รับการบ่มเพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการร่วมงานกับเอกชน และ ส.อ.ท. จะนำความเชี่ยวชาญของบัณฑิตทุนแต่ละคนมาวิเคราะห์เพื่อดูความเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับสนับสนุนให้ไปทดลองงานกับภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 3 เดือน และหากภาคอุตสาหกรรมสนใจที่จะว่าจ้างบัณฑิตทุนต่อ ก็สามารถจัดทำเป็นสัญญาเพื่อดำเนินการจ้างต่อได้ ถือเป็นอีกก้าวที่การอุดมศึกษาจะเข้าไปเติมเต็ม ช่วยแก้ปัญหาการทำงานของภาคเอกชน และได้ก้าวข้ามกรอบการทำงานรูปแบบเดิมที่นักเรียนทุนต้องทำงานกับภาครัฐเท่านั้น โดยมุ่งหวังที่จะสามารถนำเอาศักยภาพของบัณฑิตทุนมาช่วยพัฒนาประเทศร่วมกับภาคเอกชนและเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี

“กระทรวง อว. รับผิดชอบในเรื่องทุนการศึกษากว่า 60% และถือคติว่าการจัดสรรทุนเป็นการเตรียมคน สร้างคนเพื่อนำพาประเทศไปสู่เป้าหมาย ต้องทำให้ทุนการศึกษานั้นไปสร้างคนที่จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งการเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุน สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนที่มีกิจกรรมวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น นอกจากจะเป็นการใช้ประโยชน์กลุ่มกำลังคนศักยภาพสูงแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสและความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพให้กับบัณฑิตทุน รวมถึงสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ และเป็นการช่วยยกระดับขีดความสามารถของภาคเอกชนไทยให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้ ตลอดจนยังมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้แตะร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ตามเป้าหมายที่ อว. ตั้งไว้ในปี 2570 ซึ่งตนเชื่อว่าพลังความสามารถของคนรุ่นใหม่จะช่วยกำหนดอนาคตของประเทศให้สามารถพัฒนาเทียบกับนานาอารยประเทศต่างๆ ได้” ดร.เอนก กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีพลิกโฉม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมถึงการเกิดโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด -19 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกำลังคนผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชน แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีระบบส่งเสริมการผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพสูงผ่านการให้ทุนการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถสร้างนักเรียนทุนรัฐบาลที่เป็นกำลังสำคัญที่จะใช้ความรู้และความสามารถช่วยพัฒนางานวิจัยและพัฒนาของประเทศเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การพัฒนาสังคมได้อย่างต่อเนื่อง แต่นักเรียนทุนรัฐบาลส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษาแล้วจะมีรูปแบบการชดใช้ทุนโดยการบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานของภาครัฐ สถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันอุดมศึกษาตามหน่วยทุนต้นสังกัด และข้อจำกัดจากเงื่อนไขการชดใช้ทุนนี่เองที่ทำให้นักเรียนทุนบางส่วนไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ งานที่ได้รับมอบหมายขาดความท้าทายและไม่สอดคล้องกับความรู้และทักษะที่มี ทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการใช้กำลังคนอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีนักเรียนทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ อาทิ ทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ทุนโครงการปริญญาเอกกาญนาภิเษก (คปก.) และทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วรวมประมาณ 9,000 คน และกำลังศึกษาอยู่ประมาณ 6,000 คน และคาดว่าจะมีนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาประมาณปีละ 500-700 คน และจากข้อมูลของ พสวท. พบว่า จากพลวัตรที่โลกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว บางสาขาที่บัณฑิตทุนสำเร็จการศึกษามาอาจมีความล้ำหน้าหรือเจาะลึกและใช้เครื่องมือเฉพาะทางที่มีเฉพาะในห้องปฏิบัติการต่างประเทศ ซึ่งอาจไม่ตรงกับความต้องการของงานวิจัยและการศึกษาในภาครัฐของไทยในปัจจุบัน จึงส่งผลให้บัณฑิตทุน พสวท. ยังรอเข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนอยู่ถึง 53 คน โดยเป็นบัณฑิตระดับปริญญาเอก 42 คน และระดับปริญญาโท 11 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2564) ดังนั้น การเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุน พสวท. สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนที่มีกิจกรรมวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการใช้ประโยชน์กลุ่มกำลังคนศักยภาพสูง ซึ่งในปัจจุบัน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มีกลไกที่บัณฑิตทุน พสวท. สามารถไปปฏิบัติงานที่ภาคเอกชนและนับเป็นการชดใช้ทุน ซึ่งมี 3 รูปแบบ ได้แก่ การไปปฏิบัติงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก การให้ภาคเอกชนชดใช้เงินทุนให้กับ พสวท. เป็นมูลค่าจำนวนไม่น้อยกว่า 1 เท่าของเงินทุนการศึกษา (ทั้งในรูปตัวเงินและความช่วยเหลือแบบ in-kind) และการปฏิบัติงานผ่านโครงการความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันวิจัยของภาครัฐ ด้วยกลไกการเคลื่อนย้ายบุคลากร (Talent Mobility) และเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่จะช่วยเชื่อมโยงบัณฑิตทุนเข้ากับตำแหน่งงานของภาคเอกชน และช่วยสร้างความร่วมมือในการพัฒนาโครงการกับหน่วยงานภาครัฐ จึงจำเป็นต้องพัฒนากลไกการบริหารจัดการดังกล่าวรวมถึงมีการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงความต้องการของภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยของรัฐและบัณฑิตทุนเข้าด้วยกัน ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปเป็นกลไกการใช้ประโยชน์กำลังคนผู้มีศักยภาพสูงของประเทศ รองรับโจทย์การพัฒนาประเทศทั้งของภาคเอกชน และภาครัฐได้

กระทรวง อว. โดย สอวช. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกับ สสวท. และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ดำเนิน “โครงการส่งเสริมบัณฑิตทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมโยงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและบัณฑิตทุนที่อยู่ในระหว่างรองาน เพื่อให้เกิดการใช้งานศักยภาพของบัณฑิตทุนได้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญภายใต้แผนการปฏิรูปดังกล่าว คือ การพัฒนา Talent Thailand Platform โดยในอนาคตโครงการส่งเสริมให้บัณฑิตทุน พสวท. ไปปฏิบัติงานในภาคเอกชนนี้ จะสามารถพัฒนาไปเป็นต้นแบบกลไกการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีศักยภาพสูงของประเทศได้ และคาดว่าจะมีบัณฑิตทุน พสวท. ที่ได้ร่วมงานกับภาคอุตสาหกรรมและสามารถนำองค์ความรู้และศักยภาพของไปช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว สอวช. จะถอดประสบการณ์การดำเนินโครงการ ปัจจัยความสำเร็จ และปัญหาอุปสรรค เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะและกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อในอนาคตในการบริหารจัดการบัณฑิตทุน ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปเป็นกลไกการใช้ประโยชน์กําลังคนผู้มีศักยภาพสูงของประเทศ รองรับโจทย์การพัฒนาประเทศทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด