×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “เนื้อไก่” อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 15 ปีที่ผ่านมา

“เนื้อไก่” อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง 15 ปีที่ผ่านมา

วันที่เผยแพร่ 1 กรกฎาคม 2021 4946 Views

จากข้อมูลการศึกษาวิจัยเชิงระบบด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ได้มีการประเมินความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการโดยเป็นผลงานการศึกษาร่วมกันระหว่างสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งหลังจากที่เราได้นำเสนอแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีไปแล้ว ในครั้งนี้ สอวช. นำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารอย่าง “เนื้อไก่” มาฝากกัน

ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์โลกพบว่า อัตราการบริโภคเนื้อไก่เฉลี่ยต่อประชากรต่อปี มีปริมาณสูงที่สุดในกลุ่มเนื้อสัตว์บก คือ 14.8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เนื่องจากเนื้อไก่เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงที่สุดในกลุ่มเนื้อสัตว์บก และถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนเร็ว จึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อไก่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

การส่งออกเนื้อไก่มักอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มใหญ่ คือ เนื้อไก่สด (แช่เย็นหรือแช่แข็ง) และเนื้อไก่แปรรูป (ผ่านการหมักหรือทำให้สุกพร้อมปรุงรส) โดยตัวเลขการส่งออกรวมทั่วโลกในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ประมาณ 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่ส่งออกเนื้อไก่เป็นมูลค่าสูง ได้แก่ บราซิล สหรัฐอเมริกา ไทย เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ตามลำดับ

หลังจากวิกฤตโรคไข้หวัดนกในปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมเนื้อไก่ของไทยได้รับอานิสงค์จากการเติบโตของตลาดโลก จึงได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่การผลิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจ และในปี พ.ศ. 2563 (ไม่นับรวมเดือนธันวาคม) ประเทศไทยยังคงส่งออกเนื้อไก่เป็นปริมาณกว่า 848,019 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 96,172 ล้านบาท แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

อุตสาหกรรมเนื้อไก่นับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน และผลผลิตจำนวนมากใช้ในการส่งออกไปยังคู่ค้าต่างประเทศที่มีระเบียบมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องควบคุมกระบวนการผลิตอย่างรัดกุม มีการลงทุนสูงอย่างครบวงจรตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตจากฟาร์มไก่เนื้อของบริษัทมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจระหว่างบริษัทและเกษตรกรที่เรียกว่า ฟาร์มภายใต้พันธสัญญา (contract farming) เพื่อรองรับการขยายการผลิตเนื้อไก่ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรม ซึ่งผลผลิตทั้งจากฟาร์มบริษัทและฟาร์มภายใต้พันธสัญญา คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 80 ของผลผลิตเนื้อไก่ทั้งหมด

กำลังการผลิต

ฟาร์มไก่เนื้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ (GAP) ในปี 2563 มีจำนวน 6,680 ฟาร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก เลี้ยงไก่ไม่เกิน 20,000 ตัว ในช่วงปี พ.ศ. 2557–2562 มีอัตราเฉลี่ยของปริมาณการเลี้ยงที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดมีปริมาณการเลี้ยงสูงสุดที่ 287 ล้านตัวต่อรอบการผลิต เมื่อคิดผลผลิตทั้งปีจะมีปริมาณมากถึง 1,500–1,600 ล้านตัว ขณะที่ฟาร์มไก่พื้นเมือง มีปริมาณการเลี้ยงต่อรอบการผลิตในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

จำนวนเกษตรกร

จำนวนเกษตรกร/ผู้ประกอบการที่เลี้ยงไก่เนื้อลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสวนทางกับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น จึงอาจอนุมานได้ว่า ฟาร์มไก่เนื้อมีผลิตภาพที่ดีขึ้นในภาพรวม อย่างไรก็ตามตัวเลขอยู่ในช่วง 31,000–37,000 ราย ตลอดช่วงปี 2557–2562 ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับปริมาณการเลี้ยงต่อรอบผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยจำนวนเกษตรในกลุ่มนี้มีสูงถึงเกือบ 2.7 ล้านรายในปี 2562

ราคาขาย แบ่งออกเป็นการค้าส่งและค้าปลีก

ราคาขายส่งของไก่เนื้ออยู่ในช่วง 35–40 บาท/กก. และราคาขายปลีกอยู่ที่ช่วง 65–70 บาท/กก. แต่หากเป็นไก่พื้นเมืองจะมีราคาขายปลีกที่สูงกว่ามากที่ 120–130 บาท/กก. ในขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองในเชิงพาณิชย์มีข้อเสียเปรียบเรื่องระยะเวลาการเลี้ยงที่นานกว่า แต่ก็ชดเชยด้วยราคาขายต่อกิโลกรัมที่สูงกว่าไก่เนื้อ

เปรียบเทียบจุดเน้นของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ (ไก่เนื้อขาว broiler) และไก่พื้นเมือง

ไก่เนื้อ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการแข่งขันและขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศ และเป็นแหล่งโปรตีนหลักของผู้บริโภค การดำเนินธุรกิจอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด และมีกฎระเบียบและมาตรฐานควบคุมอย่างละเอียดทุกขั้นตอน เน้นตลาดส่งออกและตลาดในประเทศที่ลูกค้าต้องการมาตรฐานสูง เช่น ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ โรงแรม กลุ่มร้านอาหาร และตลาดสด)

ไก่พื้นเมือง สร้างรายได้ให้เกษตรกร ทั้งที่เป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม เน้นการกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน การดำเนินธุรกิจมีความยืดหยุ่น มีกฎระเบียบและมาตรฐานที่มีระดับความเข้มงวดน้อยกว่ามีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความพิเศษ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI: geographical indication) หรือ ผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่ม (niche product) เน้นตลาดท้องถิ่น แต่มีศักยภาพที่จะเข้าสู่ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่หรือตลาดอื่นได้ และเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองทางอ้อมด้วย

รอติดตามข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าได้ในบทความถัดไป

หากสนใจศึกษาข้อมูลแนวทางการประเมินขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอาหาร (เนื้อไก่) สามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/7949/

ขอบคุณข้อมูลจาก : วิจัยกรุงศรี ปี 2563, Trademap ปี 2563, กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมการค้าภายใน, Kasetprice.com

Tags:

เรื่องล่าสุด