messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. เป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) นำเสนอประสบการณ์ทำงานในฐานะ NDE Thailand ในประชุมปฏิบัติการจากมติการประชุม COP28 ที่ผ่านมา และเข้าร่วมการประชุมองค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 60 (SB60) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

กระทรวง อว. โดย สอวช. เป็นตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) นำเสนอประสบการณ์ทำงานในฐานะ NDE Thailand ในประชุมปฏิบัติการจากมติการประชุม COP28 ที่ผ่านมา และเข้าร่วมการประชุมองค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 60 (SB60) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

วันที่เผยแพร่ 15 มิถุนายน 2024 448 Views

ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน และ ดร.ชนิดา แสนสะอาด ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เข้าร่วมการประชุมองค์กรย่อยภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 60 (SB60)และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวันที่ 2-10 มิถุนายน 2567 ในฐานะหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ซึ่งเป็นการเดินทางเข้าร่วมประชุมติดตามประเด็นเจรจาด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยร่วมกับคณะทำงานกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Authority: NDA) โดยการประชุมนี้เป็นหารือเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ สมัยที่ 29 (COP 29) ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ต่อไป

ในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วยการประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 60 (SBSTA 60) และการประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงาน (SBI 60) โดยมุ่งเน้นประเด็นทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงการนำกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปปรับใช้ โดยมีการพิจารณาการทำงานให้เกิดความก้าวหน้าด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) การเสริมสร้างความสามารถ (Capacity Building) ในการรับมือต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการรายงานที่โปร่งใส (Enhanced Transparency Framework) เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและส่งเสริมให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้เสนอไว้กับประชาคมโลก (National Determined Contribution: NDC) ที่ท้าทายขึ้น

นอกจากนี้ ดร.ศรวณีย์ ในฐานะผู้แทน NDE Thailand ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเสวนาและอภิปราย (Panel Discussion) ในหัวข้อ “Strengthening linkages between the Technology Mechanism and the Finance Mechanism at National Level” ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ “SBI 60 in-session workshop on linkages between the Technology Mechanism and Financial Mechanism” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 เพื่อรวบรวมข้อมูลและนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างกลไกการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) และกลไกทางการเงิน (Finance Mechanism) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็น NDE ถูกเลือกเป็นประเทศตัวแทนจาก 45 ประเทศ แบ่งปันประสบการณ์การทำงานของ NDE Thailand และข้อเสนอแนะภายใต้หัวข้อการนำเสนอดังกล่าว รวมถึงเสนอโอกาสและแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อการดำเนินงานของกลไกทั้งสองให้มีประสิทธิภาพและตอบเป้าหมายโลกที่ตั้งไว้ โดยจากการประชุมปฏิบัติการนี้จะนำไปสู่การจัดทำร่าง COP29 Decision ของ SBI 60 agenda item 13 Linkages between the Technology Mechanism and the Financial Mechanism of the Convention

โดยประเด็นที่เสนอในที่ประชุมจากการดำเนินงานในฐานะ NDE Thailand เพื่อพัฒนาการทำงานเชื่อมโยงกลไกทางการเงินและกลไกทางเทคโนโลยีได้แก่ ความพยายามของ สอวช. เชื่อมโยงกลไกเทคโนโลยีเข้ากับกลไกทางการเงินผ่านโครงการ Technical Assistance (TA) โดยก่อนที่จะทำโครงการจะมีการวางกลยุทธ์เพื่อเชื่อมต่อให้เป็นโปรแกรมขนาดใหญ่หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างโครงการ Hydrogen ที่เชื่อมกับ Saraburi Sandbox และ Hydrogen Club Thailand เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไป รวมทั้งได้ใส่งบประมาณของหน่วยงานไปบางส่วน ที่พัฒนาโครงการให้มีศักยภาพสูงที่จะเสนอขอรับเงินสนับสนุนจาก GCF หรือ GEF ต่อไปได้ และกล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของการเชื่อมโยงสองกลไกดังกล่าว” ดังนี้

1) ลักษณะและบทบาทของหน่วยงานที่มารับหน้าที่ NDE ประเทศควรมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับชาติ และมีศักยภาพในการยกระดับโครงการ Technical Assistance ให้เป็นวาระดับชาติต่อไป

2) การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยประสานงานกลางของประเทศ (National Designated Authority: NDA) ทำให้ง่ายต่อการยกระดับโครงการ Technical Assistance ด้วยการพัฒนาข้อเสนอขอรับงบประมาณจาก GCF หรือ GEF หรือกลไกการเงินที่เกี่ยวข้อง หรือบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ

3) NDE ต้องทราบอย่างชัดเจนถึงช่องว่างด้านเทคโนโลยีสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Gap) ของประเทศคืออะไร และรู้จักผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงเข้าใจกระบวนการเสนอขอทุน GCF (Green Climate Fund) ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง NDE และ NDA เป็นอย่างมาก

4) นโยบายจากบนลงล่าง (Top-down Policy) จากการประชุม COP (Conference of the parties) หรือ UNFCCC เพื่อเชื่อมโยงกลไกเทคโนโลยีและกลไกทางการเงิน เช่น GCF มีเงื่อนไขในการ prioritized โครงการโดยพิจารณาโครงการที่เป็นการ scale up จาก Technical Assistance ก่อนข้อเสนอโครงการอื่นๆ ซึ่งการเชื่อมโยงโดยใช้นโยบาย top down แบบนี้จะทำให้กลไกทั้งสองประสบความสำเร็จในระดับประเทศระหว่าง NDA-NDE และระดับนานาชาติ

นอกจากนี้ได้เสนอถึงข้อจำกัดและช่องว่างในการเชื่อมโยงระหว่างกลไกเทคโนโลยีและกลไกการเงิน ซึ่งในบางประเทศ หน่วยงาน NDA และ NDE ให้ความสำคัญกับประเด็นและจัดลำดับความสำคัญเพื่อพัฒนาข้อเสนอ GCF ที่แตกต่างกันเนื่องจาก NDA และ NDE สังกัดกระทรวงที่แตกต่างกัน และการใช้ประโยชน์จาก Technology Needs Assessment (TNA) Outcome เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการได้รับการสนับสนุนจากกลไกการเงินอย่าง GCF และ GEF ซึ่งการอัพเดต TNA ของแต่ละประเทศที่ไม่เป็นบริบทปัจจุบันอาจส่งผลให้เป็นการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

เรื่องล่าสุด