messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมงานเสวนา แลกเปลี่ยนแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพของไทย พร้อมชี้โอกาสการพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมงานเสวนา แลกเปลี่ยนแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพของไทย พร้อมชี้โอกาสการพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

วันที่เผยแพร่ 23 พฤษภาคม 2024 289 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนาในงาน Advancing Bioeconomy for Sustainable Food and Agriculture in Southeast Asia ซึ่งจัดโดยองค์การอาหารและการเกษตรสหประชาชาติ สาขาเอเชียแปซิฟิก (Food and Agriculture Organization Regional Office for Asia and the Pacific: FAO-RAP) ระหว่างวันที่ 20 – 21 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว.

สำหรับการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจนวัตกรรม สอวช. ได้เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ “Status of Bioeconomy Policies, Strategies, and Actions in the Countries in Thailand” ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรฐานของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการไปในหลายหลายอุตสาหกรรม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการปรับกฎหมายเพื่อรองรับเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์แม่นยำสูงด้วยเทคโนโลยี Gene Editing โครงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อพัฒนามาตรฐานยั่งยืนของวัตถุดิบเกษตรที่จะถูกนำไปใช้ผลิตพลังงานและเคมีชีวภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การสร้างระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงหรือชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) ตลอดจนการพัฒนานโยบายและมาตรการเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมอาหารอนาคตกลายมาเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ เป็นต้น

และในการประชุมวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ “Coordination/collaboration mechanisms” โดยกล่าวถึงวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งชู 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ การเป็นศูนย์กลางเกษตรและอาหาร (Agriculture & Food Hub) ในภูมิภาค ก่อนกล่าวถึงการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจชีวภาพของ สอวช. โดยยกตัวอย่างโครงการความร่วมมือ 2 โครงการคือ (1) โครงการการสนับสนุนการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนของห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลัง (Policy design and implementation support for the sustainability of cassava value chain) ภายใต้โครงการความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำนโยบาย วทน. และแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในกลุ่มประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และไทย เพื่อความยั่งยืนของห่วงโซ่มูลค่ามันสำปะหลัง

และ (2) ภาคีเครือข่ายชีววิทยาสังเคราะห์แห่งประเทศไทย (Thailand Synthetic Biology Consortium) ซึ่งประกอบด้วย 22 ภาคีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคมหาวิทยาลัย โดยได้ร่วมกันจัดทำร่างแผนที่นำทางการพัฒนาชีววิทยาสังเคราะห์ในระยะเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2565 – 2573) เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือและเป้าหมายในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยและระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ งาน Advancing Bioeconomy for Sustainable Food and Agriculture in Southeast Asia จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันข้อมูล และสร้างโอกาสในการทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้