messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึก 6 หน่วยงาน ยกระดับบุคลากรและนวัตกรรมการบิน ดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค

กระทรวง อว. โดย สอวช. ผนึก 6 หน่วยงาน ยกระดับบุคลากรและนวัตกรรมการบิน ดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งภูมิภาค

วันที่เผยแพร่ 20 พฤษภาคม 2024 624 Views

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน (NGAP-Digital Transformation) ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุม Auditorium เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สำนักงานใหญ่ วังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยมีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงและประสานงานกันเป็นเครือข่ายด้านการพัฒนานวัตกรรมการบิน ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรระดับอุดมศึกษา หวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Hub of Aviation) เพื่อสอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)

ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบินตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นเรื่องที่สำคัญมาก กระทรวง อว. มีเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น

  1. การพัฒนากำลังคนในลักษณะพิเศษจำนวนมาก: สอวช. มีแพลตฟอร์มพัฒนาคนในรูปแบบการ Reskill และ Upskill ประมาณ 80,000 คน ภาคเอกชนสามารถนำต้นทุนการฝึกอบรมไปขอคืนภาษีได้ 250% นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรด้าน STEM ประมาณ 6,000 คน ซึ่งสามารถนำเงินเดือนไปขอคืนภาษีได้ 150%
  2. Special Platform ที่เรียกว่า Higher Education Sandbox: แพลตฟอร์มนี้ช่วยผลิตกำลังคนโดยไม่ต้องใช้ข้อบังคับทางกฎหมาย (Regulation) ใด ๆ ภาคอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยสามารถออกแบบหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้ 100% ตัวอย่างหลักสูตรที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และดิจิทัล นักศึกษาไม่จำเป็นต้องเรียนครบ 4 ปี เมื่อเรียนจบปีแรกสามารถได้รับการรับรองให้เป็นผู้ปฏิบัติงานเต็มรูปแบบ สามารถทำงานเป็น Full stack developer ได้ และหากต้องการเรียนต่อในระดับสูงขึ้นก็สามารถเลือกเรียนเป็น Data Engineer หรือ Cloud Admin ได้ แต่หากไม่ต้องการเรียนต่อก็สามารถใช้ใบรับรองนั้นทำงานได้ทันที
  3. Incubator and Spin-off: เครื่องมือนี้เหมาะสำหรับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ที่มีระดับความพร้อมเทคโนโลยี (TRL) อยู่ที่ระดับ 9 และพร้อมที่จะนำสู่เชิงพาณิชย์ โดยให้ บวท. เป็นผู้นำโครงการ Project Lead the Way สู่การพัฒนานวัตกรรมและเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งรับเยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมในโครงการ โดย บพข. จะสนับสนุนทุนวิจัยด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ บพค. จะสนับสนุนทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน

โครงการนี้จะได้ผลลัพธ์ 3 ประการ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประกอบการได้จริง การสร้างบริษัทสตาร์ทอัพ และการพัฒนาบุคลากรพันธุ์ใหม่ที่พร้อมปฏิบัติงานในอนาคต

ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาความร่วมมือภาคปฏิบัติในหัวข้อ “โครงการสำคัญและแนวทางการสนับสนุนภายใต้ความร่วมมือ” มีผู้ร่วมการเสวนา ได้แก่ ดร.ชโลธร บุญเหลือ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพัฒนาคลัสเตอร์ยุทธศาสตร์ ดร.อรพรรณ เวียรชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายนโยบายกำลังคนตามความต้องการของประเทศ ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. ดร.มะลิ จันทร์สุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สคช. ดร.เมธี เสรีอรุโณ ผู้อำนวยการฝ่าย ประจำสำนักงานผู้อำนวยการใหญ่ บวท. ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร คณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต บพข. และหัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคุณปิยะฉัตร ไคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการฝ่ายฝ่ายพัฒนาพื้นที่และกำลังคนเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สวทช. ดำเนินรายการโดย ดร.ชาญวิทย์ อุดมศักดิกุล นักยุทธศาสตร์1 สอวช. และ คุณสุรพล คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการการเดินอากาศ ณ สนามบินอู่ตะเภา

โดยทุกหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือนี้ จะบูรณาการการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการพัฒนานนวัตกรรมผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อใช้งานด้านการบิน จนถึงการขยายผลนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการบินในปัจจุบัน นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท บุคลากรที่เกี่ยวข้องและบุคลากรที่สนใจได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพหรือรับรองหน่วยกิตสำหรับใช้ในภาคการศึกษา ส่งผลให้เกิดการยกระดับนวัตกรรมควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิ สอดคล้องตามกรอบการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบิน (NGAP) รวมถึงสร้างทักษะผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ต่อไป

เรื่องล่าสุด