×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เผยนโยบายด้านต่างประเทศของกระทรวง อว. เน้นสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ขยับสถานะประชากรฐานราก พัฒนาบุคลากรตอบโจทย์อุตสาหกรรม นำไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

สอวช. เผยนโยบายด้านต่างประเทศของกระทรวง อว. เน้นสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ขยับสถานะประชากรฐานราก พัฒนาบุคลากรตอบโจทย์อุตสาหกรรม นำไทยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero

วันที่เผยแพร่ 22 มีนาคม 2024 186 Views

(21 มีนาคม 2567) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นวิทยากรนำเสนอนโยบายด้านต่างประเทศของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในงานบทบาททางการทูตเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จังหวัดปทุมธานี โดยงานในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้บุคลากรในสังกัดกระทรวง อว. ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และข้อคิดเห็น ร่วมกับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศด้าน อววน. ในการตอบสนองต่อการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การติดอยู่ในกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 2.ความเหลื่อมล้ำในสังคม 3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ สอวช. เห็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย อววน. ของประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การนำ อววน. เข้ามาช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ผ่านการผลักดันให้เกิดผู้เล่นใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง อาทิ อุตสาหกรรมบีซีจี อุตสาหกรรมแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Driver Enterprises: IDEs) 2. การนำ อววน. เข้ามาช่วยสนับสนุนการนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero Emissions) มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาจังหวัดนำร่องในโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเป็นจังหวัดที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงต้องเข้าไปทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในพื้นที่ และอีกส่วนหนึ่งคือการทำเรื่องนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) ด้วยการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้กระทรวง อว. ให้เป็น Green campus และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจุกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Campus) 3. การขยับสถานะประชากรฐานรากและการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการยกระดับสถานะกลุ่มคนที่อยู่ด้านล่างของพีระมิดให้มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ สุขภาพ ฯลฯ และ 4.การปฏิรูประบบอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาให้เกิดบุคลากรที่มีสมรรถนะสูงตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย

แนวทางการยกระดับประเทศไทยสู่ประเทศรายได้สูง ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ต้องมีการผลักดันให้เกิดการลงทุนในกลุ่มเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม มรดกทางวัฒนธรรม และการผลิตคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ โดยได้ตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้ได้ 2% ของจีดีพีในปี 2570 สร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม IDE รายได้เฉลี่ย 1,000 ล้าน ให้ได้ 1,000 ราย และตั้งเป้าให้มีสตาร์ทอัพของไทยที่พัฒนาเป็นผู้ประกอบการระดับยูนิคอร์น 5 ราย ซึ่งการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรมได้มีการสร้างระบบนิเวศที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านนโยบาย การให้ทุน สิทธิประโยชน์ การพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี การพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาด รวมไปถึงการมีตัวกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการให้ได้รับการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยที่ผ่านมา สอวช. ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ส่งเสริมการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะและช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังสนับสนุนกลไก University Holding Company ที่เป็นมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อช่วยให้งานวิจัยในมหาวิทยาลัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง

การมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้มีการนำ วทน. เข้ามาสนับสนุนแผนที่นำทางของประเทศ มีการขับเคลื่อนในพื้นที่นำร่องจังหวัดสระบุรี ให้เป็นเมืองที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านแนวทางการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน การปรับกระบวนการขั้นตอนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การทำการเกษตรที่คำนึงการลดคาร์บอน รวมไปถึงแนวทางการจัดการขยะในชุมชนด้วย ซึ่งหากพื้นที่สระบุรีทำได้สำเร็จก็จะสามารถขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ ขณะที่การยกระดับสถานะทางสังคมและการแก้ไขปัญหาความยากจน ได้ตั้งเป้ายกระดับสถานะกลุ่มฐานรากให้พ้นจากความยากจนให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570 ผ่านการสร้างโอกาสทางการศึกษา การสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคม การสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมจากฐานราก และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าไปช่วยในการประกอบอาชีพของคนในแต่ละพื้นที่

ในการปฏิรูปการอุดมศึกษาและการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยจากการใช้ชีวิตแบบ 3 ขั้นตอน (three-stage life) เป็นชีวิตแบบหลากหลายขั้น (multi stage Life) คือ เกิด เรียน ทำงาน กลับมาปรับหรือเพิ่มทักษะ และกลับไปทำงานใหม่ ทำให้เห็นถึงความสำคัญในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สอวช. จึงได้มีส่วนในการผลักดันให้เกิดกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้ร่วมออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับภาคเอกชน หรือภาคผู้ใช้บัณฑิต แบบ co-creation เพื่อผลิตกำลังคนให้ทันต่อความต้องการได้โดยไม่ติดข้อจำกัดของการจัดการศึกษารูปแบบเดิม ตัวอย่างเช่น หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีจุดเด่นคือการเปิดโอกาสให้นิสิตที่เรียนจบในแต่ละปีตามโมดูล เมื่อได้รับประกาศนียบัตร (Certificate) รับรองแล้ว สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ทันทีโดยไม่ต้องรอจบการศึกษา 4 ปี และยังสามารถสะสมหน่วยกิตที่เรียนแล้วไว้ได้ในคลังหน่วยกิต และกลับมาเรียนต่อเพื่อเพิ่มเติมทักษะหรือปรับตำแหน่งที่สูงขึ้นได้

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังได้เข้าศึกษาดูงานที่ สวทช. ในส่วนของศูนย์วิจัยแห่งชาติ 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และศูนย์เทคโนโลยี พลังงานแห่งชาติ (ENTEC) รวมถึงลงพื้นที่ศึกษาดูงานที่สถานีวิจัยลำตะคอง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. และนายปรินันท์ วรรณสว่าง ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย ฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. เข้าร่วมการศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย

เรื่องล่าสุด