×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » อว. – สอวช. ลงนามความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชน ในโครงการแซนด์บ็อกซ์ผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง หวังยกระดับความสามารถด้านการแข่งขัน พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ดึงดูดต่างชาติลงทุนในไทย

อว. – สอวช. ลงนามความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชน ในโครงการแซนด์บ็อกซ์ผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง หวังยกระดับความสามารถด้านการแข่งขัน พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ดึงดูดต่างชาติลงทุนในไทย

วันที่เผยแพร่ 7 กุมภาพันธ์ 2024 339 Views

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานลงนามความร่วมมือและกิจกรรมแคมปัสทัวร์ (Campus Tour) โครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor and Advanced Electronics)” ระดับภูมิภาค (ภาคกลาง) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัด อว. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC พร้อมด้วยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในความดูแลของกระทรวง อว. ร่วมกับเครือข่ายบริษัทเอกชนระดับชั้นนำของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง จำนวน 7 แห่ง โดยร่วมกันกำหนดแผนงานและขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนทั้งในระยะสั้น (เร่งด่วน) ระยะกลาง และระยะยาว ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารหน่วยงานเครือข่าย เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร

นายเพิ่มสุข กล่าวว่า เรามุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นการนำร่องที่ยกเว้นมาตรฐานต่าง ๆ ของเราที่มี เมื่อทำสำเร็จก็จะนำไปใช้จริง และทำให้เป็นหลักสูตรที่ใช้โดยทั่วไป ต่อไปอาจจะไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยที่สอนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาได้เพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากบริษัทที่มีความรู้เฉพาะด้านได้ แต่เราต้องทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถยกระดับการแข่งขัน พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นได้

ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ และอำนาจในการจัดให้มีระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลิตกําลังคนระดับสูงเฉพาะทาง ได้ประสานและริเริ่มขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากําลังคนสมรรถนะสูงในอุตสาหกรรม “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง” โดยใช้แนวคิดรูปแบบความร่วมมือสามประสาน (Triple Helix) คือ ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ร่วมกันพัฒนาให้เกิดระบบการผลิตและพัฒนากําลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการกําลังคนได้อย่างทันท่วงทีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ขณะที่ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงมีการเติบโตอย่างมาก หลายประเทศเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพื่อหวังให้เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบจากการเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก มีความพร้อมในการเชื่อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานโลกได้ทันที มีความได้เปรียบด้านที่ตั้งและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน

“การพัฒนาให้เกิดระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการกำลังคนได้อย่างทันท่วงทีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในอุตสาหกรรมดังกล่าว นำมาสู่การร่วมดำเนินโครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง” โดยเริ่มนำร่องจากการผลิตกำลังคนเพื่อตอบความต้องการระยะสั้น (เร่งด่วน) ผ่านการรับนักศึกษาฝึกงานในโปรแกรมสหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ ซึ่งนักศึกษาจะได้รับโอกาสฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำ โดยมีความพิเศษอยู่ที่การเพิ่มเติมทักษะที่เป็นความต้องการของภาคผู้ประกอบการจากกิจกรรมคอร์สออนไลน์ และค่ายเตรียมความพร้อม และระหว่างฝึกงานได้รับค่าตอบแทน มีโอกาสในการจ้างงานหลังจบการศึกษา พร้อมใบรับรองการผ่านเข้าร่วมโครงการฯ” นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงบทบาทความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ โดยระบุว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นเพียง 3-4 % เท่านั้น และเรายังไม่มีนโยบายที่จะช่วยให้เงินไหลเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น จึงรู้สึกยินดีที่มีโครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้านนี้ขึ้นมา ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่เพื่อรองรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

“เซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจมาก ที่จะทำให้ประเทศไทยไล่ตามการเปลี่ยนแปลงได้ ความท้าทายอย่างหนึ่งคือเราจะดึงน้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่เข้ามาร่วมโครงการได้อย่างไร ดังนั้นจึงต้องสร้างระบบนิเวศให้เด็กรู้สึกว่ามีความท้าทายที่จะเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งหลักสูตรของแซนด์บ็อกซ์เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยปลดล็อกได้ 100% สามารถร่วมกันออกแบบหลักสูตรได้ ในรูปแบบ Co-creation ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเราต้องมองให้ไกลมากกว่ากฎระเบียบที่มี อะไรติดขัดก็ต้องปลดล็อกให้เกิดความคล่องตัว สิ่งที่สำคัญคือเรากำลังต่อสู้กับโจทย์ยาก จึงต้องผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น เอาหัวใจของสิ่งที่เราต้องการขับเคลื่อนเป็นตัวตั้งมากกว่ามองที่กระบวนการ” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว

ขอบคุณภาพจากกระทรวง อว.

เรื่องล่าสุด