×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. – มจธ. เปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 6 มุ่งพัฒนาและสร้างเครือข่ายนักนโยบาย อววน. เป็นรากฐานขับเคลื่อนประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สอวช. – มจธ. เปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 6 มุ่งพัฒนาและสร้างเครือข่ายนักนโยบาย อววน. เป็นรากฐานขับเคลื่อนประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

วันที่เผยแพร่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 283 Views

(31 มกราคม 2567) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีเปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 6 (STI Policy Design: STIP06) ณ โรงแรม อีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอธิการบดี มจธ. และ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้กล่าวเปิดการอบรม

ผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมการอบรมในปีนี้ พร้อมทั้งได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่เป็นโจทย์สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การก้าวหน้าของเทคโนโลยี การพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องอาศัยการสร้างรากฐานด้านนโยบาย ที่จะเป็นต้นน้ำสำคัญใน
การขยับประเทศไทยให้เติบโตและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวต้อนรับและเสวนา เรื่อง “Geopolitics for Climate Change: ภูมิรัฐศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีนัยต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในปัจจุบันมากกว่าเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากร โดยมีความเกี่ยวข้องกับหลายประเด็น อาทิ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDG) การค้า การลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ การอพยพลี้ภัย นโยบายการผลิตน้ำมันในแถบตะวันออกกลาง เทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา University Ranking ซึ่ง สอวช. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งในเวทีประชุมของ UNFCCC จะให้ความสำคัญกับการหารือกันใน 3 มิติ ได้แก่ 1) Mitigation การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2) Adaptation การการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3) Lost and Damage ความสูญเสียและความเสียหาย

“ในปีที่ผ่านมา สอวช. ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties: COP) สมัยที่ 28 ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของประชาคมโลกภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังมีการประชุมคู่ขนานไปพร้อมกันอีก 6 ประชุมหลัก โดย สอวช. ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรหลักร่วมนำเสนอส่วนจัดแสดงนวัตกรรม (Innovation Zone) และร่วมจัดกิจกรรมเวทีคู่ขนาน (Side Event) 3 เวทีเสวนา เพื่อสะท้อน แลกเปลี่ยนและสื่อสารภารกิจและการขับเคลื่อนของ สอวช. ที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของประเทศไทยในระยะยาว ประกอบด้วย 6 สาขาหลัก ได้แก่ การจัดการน้ำ ท่องเที่ยว การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงการดำเนินงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหลายสาขา (Cross-Cutting) และความต้องการสนับสนุนของประเทศไทย มีโครงการสำคัญที่ สอวช. ร่วมขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ โครงการ Green Campus มหาวิทยาลัยขับเคลื่อน Net Zero Emissions ได้ตั้งเป้าให้มี 50 มหาวิทยาลัยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยให้ความสำคัญทั้งในส่วนการหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้พลังงานรูปแบบอื่น ๆ เช่น ระบบ Smart Grid การใช้ Solar Roof รวมถึงต้องสร้างความตระหนักในการใช้พลังงานให้กับบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย อีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือโครงการ Saraburi Sandbox ระบบนิเวศเมืองนวัตกรรม Net Zero Emission เป็นการสร้างเมืองต้นแบบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยอาศัยกลไกการเชื่อมโยงความรู้และความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งการเชื่อมเวทีระดับนานาชาติ เชื่อมโยงภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม และการตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม

งานเปิดหลักสูตรฝึกอบรมในครั้งนี้ยังได้มีการแบ่งกลุ่มผู้เรียนและมอบหมายโจทย์โครงงาน รวมถึงจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม (Ice breaking) และสร้างเครือข่าย (Networking) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รู้จักกันมากขึ้น และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานด้วย

สำหรับหลักสูตร STIP มีวัตถุประสงค์ในการจัดการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม เรื่องการออกแบบนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับบริบทการทำงานของบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระบบและนอกระบบ อววน. ตลอดจนองค์กรภาคเอกชน และยังเป็นการเพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนานโยบายตามหลักสูตรที่ได้ออกแบบไว้ โดยเน้นการจัดทำข้อเสนอนโยบายจริง เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถใช้ความรู้ที่ได้รับในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างให้เกิดเครือข่ายนักพัฒนานโยบาย (Policy Network) ด้าน อววน. ของประเทศ เพื่อร่วมการผลักดันนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 63 คน จาก 34 หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานด้านนโยบาย/กำกับดูแล หน่วยบริหารและจัดการทุน หน่วยงานวิจัย/มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน

เรื่องล่าสุด