×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. นำเสวนาเวทีคู่ขนานภายใต้แนวคิด “SARABURI SANDBOX: An innovation ecosystem and city for net zero emissions by the cement industrial sector” ณ Thai Pavilion COP28 เมืองดูไบ

สอวช. นำเสวนาเวทีคู่ขนานภายใต้แนวคิด “SARABURI SANDBOX: An innovation ecosystem and city for net zero emissions by the cement industrial sector” ณ Thai Pavilion COP28 เมืองดูไบ

วันที่เผยแพร่ 21 ธันวาคม 2023 282 Views

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน รวมถึงเยาวชน และสถาบันการศึกษา รวมกว่า 20 หน่วยงาน ร่วมนำเสนอ Thai Pavilion เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรหลักร่วมนำเสนอส่วนจัดแสดงนวัตกรรม (Innovation Zone) ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมเวทีคู่ขนาน (Side Event) จำนวน 3 เวทีเสวนา เพื่อสะท้อน แลกเปลี่ยนและสื่อสารภารกิจและการขับเคลื่อนของสอวช. ที่สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ในวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 เวลา 14.30-15.30 สอวช. ได้นำเสนอเวทีเสวนาในหัวข้อ “SARABURI SANDBOX: An innovation ecosystem and city for net zero emissions by the cement industrial sector” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.ชนะ ภูมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ คุณอภิรัตน์ ทรัพย์จรัสแสง และ Mr. Thomas Guillot ดำเนินการเสวนาโดย ดร. ศรวณีย์ สิงห์ทอง โดยคุณ Thomas Guillot ผู้บริหารจาก Global Cement and Concrete Association (GCCA) เล่าถึงการทำงานร่วมกับประเทศไทยในโครงการ Saraburi Sandbox จากการริเริ่ม และการปรับใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้จริงได้ในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังนำเสนอการจัดทำ Thailand 2050 Net Zero Cement & Concrete Roadmap ซึ่งมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในอุตสาหกรรมซีเมนต์ให้เหลือครึ่งหนึ่งในปี 2030 และเข้าสู่ Net Zero Emission ในปี 2050 สอดคล้องกับแผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งในปี 2030 อุตสาหกรรมปูนจะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การกระตุ้นการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และการร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเข้มข้นในการบรรลุเป้าหมาย

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เล่าถึงการทำงานของ Saraburi Sandbox ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนแบบ Public-Private Partnership: PPP เพื่อทำให้เกิดต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดสระบุรี หรือที่เรียกว่า  “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” โดยการดำเนินงานมีความครอบคลุมทั้งในด้านพลังงาน (Energy) ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) ด้านการจัดการของเสีย (Waste) ด้านการเกษตร (Agriculture) และด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF) โดยมีการดำเนินโครงการตัวอย่าง เช่น การใช้พลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้า การปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงาน การจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานทางเลือกและเชื้อเพลิงขยะ การดำเนินโครงการให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนับจากทุกภาคส่วน เนื่องจากอาจมีกฎระเบียบที่ต้องแก้ไข เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึงแนวคิดการใช้นโยบายนวัตกรรมพัฒนาโครงการ Saraburi Sandbox ให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำที่เป็นฐานไปสู่การเป็นพื้นที่ที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero emission แห่งแรกของไทย โดยการเปลี่ยนผ่านต้องมีการใช้นวัตกรรม และรูปแบบการทำงานแบบข้ามภาคส่วน และผลประโยชน์ที่ได้จะครอบคลุมไม่เพียงแค่อุตสาหกรรมซีเมนต์ แต่มองรวมไปถึงผลประโยชน์โดยรวมรวมของทั้งจังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ยังกล่าวถึงบทบาทของสอวช. ในการเป็นหน่วยงานกลางด้านการประสาน ด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technical Assistance) ผ่านศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ในโครงการต่างๆ

ในช่วงท้ายคุณอภิรัตน์ ทรัพย์จรัสแสง รองผู้จัดการทั่วไปจาก Toyota Daihatsu Engineering and Manufacturing กล่าวถึงการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในภาคการขนส่งซึ่งเป็นภารกิจหลักของโตโยต้าซึ่งประกอบด้วย 2 ข้อหลัก ได้แก่ 1) Electrification of Vehicles หรือการทำให้เป็นพาหนะไฟฟ้า และ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่ง เช่น การออกแบบเส้นทางการขนส่งให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับ SCG ในด้าน Mobility Solution, Data Solution และ Energy Solution ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง กิจกรรมที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานข้ามภาคส่วน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการเป็นเมือง Net Zero Emission ของจังหวัดสระบุรี

เรื่องล่าสุด