×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ต้อนรับคณะดูงานจาก Korea Productivity Center พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนและแนวทางการพัฒนากำลังคน

สอวช. ต้อนรับคณะดูงานจาก Korea Productivity Center พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลการขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืนและแนวทางการพัฒนากำลังคน

วันที่เผยแพร่ 13 ธันวาคม 2023 294 Views

(12 ธันวาคม 2566) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ต้อนรับคณะดูงานจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และหน่วยงานเพิ่มผลิตภาพแห่งประเทศเกาหลีใต้ (Korea Productivity Center) นำโดย Mr. Ko young koo รองประธานกรรมการ หน่วยงานเพิ่มผลิตภาพแห่งประเทศเกาหลีใต้ และ ดร.ฐานิฏา โขมพัตราภรณ์ หัวหน้าส่วนงานธุรกิจนวัตกรรม สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในการเข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาองค์กรย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดำเนินการใน 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) เชื่อมโยงกับนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ของประเทศไทย ตลอดจนหารือเรื่องความร่วมมือในอนาคตด้าน ESG ร่วมกัน โดยมี นางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สอวช. และ ดร.ชนิดา แสนสะอาด ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. ร่วมให้ข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้อง

นางสาวภาณิศา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศไทย และแนวทางการดำเนินงานของ สอวช. ที่สำคัญใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ยกระดับประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยการเพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรมที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท 1,000 ราย 2) Social Mobility ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วย อววน. 1 ล้านคน 3) ลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ 4) เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25%

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย โดยยกตัวอย่างโครงการที่ สอวช. ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อน อาทิ การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ (Higher Education Sandbox) โครงการ GenNX Model จากความร่วมมือกับองค์กรเจเนเรชั่น ประเทศไทย (Generation Thailand) เพื่อพัฒนากำลังคนให้มีงานทำแบบเร่งด่วนตอบโจทย์ตลาดงานทั้งด้านดิจิทัลและด้านการดูแลผู้สูงอายุ

ด้าน ดร.ชนิดา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อตอบโจทย์ประเทศในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง สอวช. มีบทบาทสำคัญในการทำงานระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) นอกจากหน้าที่หลักในการเป็นหน่วยงานด้านนโยบาย อววน. ของประเทศแล้ว สอวช. ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยงานประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) และเป็นหน่วยประสานงานด้านการประเมินความต้องการเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment: TNA) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยด้วย

ดร.ชนิดา ยังได้ยกตัวอย่างการดำเนินงานโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG ที่ทำงานร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) การขับเคลื่อนให้เกิดตัวชี้วัด BCG Indicator เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน รวมถึงการสนับสนุนโครงการ Green campus ที่เป็นแนวทางพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หลังจากการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน พบว่ามีการดำเนินงานในหลายด้านที่ สอวช. สามารถทำงานร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และหน่วยงานเพิ่มผลิตภาพแห่งประเทศเกาหลีใต้ต่อได้ เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Green Productivity) ในอนาคต รวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ด้านต่างๆ เช่น การสร้าง Green mindset หลักสูตร capacity building และการสร้างบุคลากรรองรับ VVB (Validation and Verification Body)

เรื่องล่าสุด