×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เข้าร่วมประชุม The 9th Seminar on Climate Change Projects and Programmes (CCPP) จัดโดยกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ สาธารณรัฐเกาหลี ณ กรุงโซล วันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566

สอวช. เข้าร่วมประชุม The 9th Seminar on Climate Change Projects and Programmes (CCPP) จัดโดยกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ สาธารณรัฐเกาหลี ณ กรุงโซล วันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566

วันที่เผยแพร่ 28 พฤศจิกายน 2023 321 Views

ในวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ได้มีการจัดประชุม The 9th Seminar on Climate Change Projects and Programmes (CCPP) จัดโดยกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อขับเคลื่อนโครงการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและหาความร่วมมือการดำเนินงานภายใต้กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ซึ่งเป็นกลไกทางการเงินภายใต้กรอบอนุสัญญสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ภายในงานมีผู้บริหารจากหน่วยงานประสานงานกลางด้านพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity: NDE) หน่วยงานปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง (Accredited Entity: AE) กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวแทนจากประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกามากกว่า 10 ประเทศเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

สำหรับประเทศไทยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมีบทบาทเป็นหน่วยงานประสานงานกลางด้านพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Designated Entity : NDE) ได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้และมีผู้แทนคือ ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่อความยั่งยืน และนางสาวชณิภรณ์ เรืองฤทธิ์ นักวิเคราะห์นโยบาย สอวช. เพื่อแลกเปลี่ยนการดำเนินงานโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อมูลกองทุนภูมิอากาศสีเขียวจากหลากหลายหน่วยงานและการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียวต่อไป

ภายในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการซึ่งเป็นการจำลองโปรแกรมสำหรับกองทุนภูมิอากาศสีเขียว โดยมี Korea Development Bank (KDB) เป็นกระบวนกร (Facilitator) และโครงการที่ สอวช. เสนอในที่สัมมนาฯ ได้ถูกรับเลือกให้เป็นโครงการตัวอย่าง ภายใต้ชื่อโปรแกรม Innovation Net Zero Cities by Cement Industry (Case Study: Saraburi Sandbox) เป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชน โดยมีเป้าประสงค์ให้เป็นเมืองนวัตกรรมต้นแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และขยายแผนการดำเนินงานสู่ระดับประเทศต่อไป ซึ่งการทำงานนี้มีสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufacturers Association: TCMA) ขับเคลื่อนในการดำเนินหลัก และภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ (Facilitator) ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมซีเมนต์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรีมีศักยภาพสูง ทั้งการดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ อาทิ พลังงาน การจัดการขยะ และภายในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 35 MtCO2eq. โดยได้เสนอขอรับการสนับสนุนจากกลไกการเงินเพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization: CCU) โดยสามารถเป็นวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้พลังงานหมุนเวียนจาก Solar Floating ทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลและส่งเสริมการใช้พื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่า และการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ที่ในปัจจุบันได้รับการสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network) ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) และได้แจ้งว่าจะนำการดำเนินการนี้ไปเสนอใน Thailand Pavilion การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา สหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (Conference of Parties, COP 28)

จากการนำเสนอผู้เข้าร่วมได้ให้ความสนใจกับโครงการที่นำเสนอ และสามารถนำกรอบแนวคิดนี้ไปประยุกต์กับประเทศต่างของตนต่อไปได้ และจะมีการหารือแลกเปลี่ยนแนวคิดในที่ประชุม COP28 ที่กำลังจะมีในเดือนธันวาคมนี้เพิ่มเติม

เรื่องล่าสุด