×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » 7 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แก้ปัญหา Social Enterprise สร้างความยั่งยืนในท้องถิ่น ด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

7 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แก้ปัญหา Social Enterprise สร้างความยั่งยืนในท้องถิ่น ด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

วันที่เผยแพร่ 27 กันยายน 2023 1342 Views

EP. ที่แล้ว สอวช. ได้นำเสนอถึงสถานการณ์ ปัญหา ข้อจำกัด และอุปสรรคของ Social Enterprise (SE) ไทย ไปแล้ว ใครที่พลาดเนื้อหาส่วน EP.1 ““Social Enterprise” คำคุ้นหู ที่ สอวช. จะชวนมาทำความรู้จักให้มากขึ้น” สามารถเข้าไปติดตามอ่านกันก่อนได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/19369/

สำหรับ EP. นี้ สอวช. จะมาปิดท้ายด้วย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะช่วยขจัดอุปสรรค และสร้างโอกาส SE ไทย ผ่าน 7 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จะมีข้อเสนออะไรบ้างนั้น ไปชมพร้อม ๆ กันเลย

🔹 1. การจัดตั้ง Social Enterprise Academy เพื่อสนับสนุนและบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่

จะทำหน้าที่สนับสนุนและบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้ พี่เลี้ยงและที่ปรึกษา มีผู้บ่มเพาะและเร่งการเติบโต (Incubators and Accelerators) ทั้งในด้านเงินทุน องค์ความรู้ ตลาด กฎระเบียบ รวมถึงทำหน้าที่พัฒนากลไกในการสนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้งานวิจัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมกับนักวิชาการ และหน่วยงานในระบบนิเวศธุรกิจเพื่อสังคม ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

🔹 2. การพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาและการเสริมสร้างทักษะ (Educational and Skills)

ควรส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษาและการเสริมสร้างทักษะ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านโปรแกรมการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจทางสังคม เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา พัฒนาไอเดียแก้ไขปัญหาสังคม เรียนรู้กระบวนการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม และวางแผนสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เพื่อปลดล็อกการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจเพื่อสังคม สนับสนุนทุนวิจัยให้กับนักวิจัยโดยตรงเพื่อสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงส่งเสริมงานวิจัยและการเผยแพร่องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับวิสาหกิจเพื่อสังคม ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลตัวชี้วัดด้านสังคมต่าง ๆ

แนวทางเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมนำไปพัฒนาต่อเป็นโมเดลทางธุรกิจของตัวเองได้

🔹 3. ส่งเสริมศักยภาพให้วิสาหกิจเพื่อสังคมในการขยายผลกระทบทางสังคม (Scaling the Impact)

ผู้กำหนดนโยบายควรสนับสนุนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมขยายผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะการปรับกระบวนการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งต้องการการสนับสนุนทั้งเงินทุนและองค์ความรู้ ตลอดจนช่วยสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ ให้เกิดการทำซ้ำในพื้นที่ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ควรส่งเสริมมการแบ่งปันความรู้ระหว่างวิสาหกิจเพื่อสังคม และธุรกิจทั่วไป รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในวงกว้าง เพื่อดึงการสนับสนุนจากสังคมที่จะเอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย และสร้างผลกระทบทางสังคมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

🔹 4. การเพิ่มศักยภาพให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมในการเข้าสู่ตลาด (Access to Market)

เพิ่มศักยภาพวิสาหกิจเพื่อสังคม การเข้าถึงตลาดผู้บริโภค (B2C) และตลาดภาคเอกชน (B2B) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและการตลาดให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยการเติมเต็มความรู้ทางธุรกิจและการตลาดยุคใหม่ ส่งเสริมให้ดำเนินนโยบายกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกับภาคเอกชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมกับกิจการเพื่อสังคม โดยเฉพาะการเชื่อมวิสาหกิจเพื่อสังคมเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจต่าง ๆ

🔹 5. การส่งเสริมให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่หลากหลาย (Access to Finance) ภาครัฐควรจัดสรรเงินทุนและกระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการระดมทุนเพื่อดำเนินกิจการเพื่อสังคมให้หลากหลาย

🔹 6. การพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เพื่อสังคมรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่มีการใช้ในต่างประเทศ กล่าวคือ ช่วยเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับกิจการที่ต้องการแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมและองค์การนอกภาครัฐที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ โดยพันธบัตรเพื่อสังคม เป็นสัญญากับภาครัฐที่ผูกพันว่า ภาครัฐจะส่งมอบเงินให้แก่ผู้ลงทุนในพันธบัตรเมื่อเกิดผลลัพธ์ทางสังคม (Social Outcome) ตามที่ตกลงกันไว้

🔹 7. ภาครัฐควรสนับสนุนให้เงินทุนตั้งต้นแบบครั้งเดียว ให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

ภาครัฐควรปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมาย โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถให้เงินสนับสนุนตั้งต้นเข้าสู่กองทุนฯ ได้ หลังจากนั้น ภาครัฐควรมอบเงินทุนตั้งต้นให้กับกองทุนฯ เพื่อนำไปบริหารจัดการและสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยอาจเป็นลักษณะการใช้เงินจากกองทุนอื่น ๆ ที่ช่วยจัดสรรตามวัตถุประสงค์เดิมของกองทุนและที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถบริจาคให้กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมได้

🔸 จากข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้ง 7 ข้อดังกล่าว ในการส่งเสริมและพัฒนา Social Enterprise ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ทั้งภาคเอกชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หาแนวทางในการนำนโยบายไปใช้หรือสนับสนุนประเด็นดังกล่าว และนำมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เพื่อฟื้นคืนเศรษฐกิจและเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของภาคประชาสังคม โดยมุ่งให้เกิดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และเอื้อให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สมุดปกขาว “กลไกการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”

เรื่องล่าสุด