×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ชี้แนวทางสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่านแพลตฟอร์มศูนย์บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดและแหล่งทุน

สอวช. ชี้แนวทางสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ผ่านแพลตฟอร์มศูนย์บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ เชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดและแหล่งทุน

วันที่เผยแพร่ 26 กรกฎาคม 2023 533 Views

(25 กรกฎาคม 2566) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการเสวนาทางนโยบาย (Policy dialogue) : ร่วมกำหนดวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยจะไปในทิศทางใด โดยร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “นำ อววน. หนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” ผ่านเวทีเสวนาเชิงนโยบาย “การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย” จัดโดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อกำหนดแนวทางและสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ณ ห้องประชุมแมนดารินซี โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ

ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่ประกอบด้วยนโยบายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคมสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจนวัตกรรม และด้านเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งการพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ในทุกด้าน ในส่วนของ สอวช. จะเน้นไปที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ได้ตั้งเป้าหมายการยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจฐานราก ด้วยบันไดเลื่อนสถานะประชากรฐานรากให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2570 โดยให้ความสำคัญกับการดึงคนฐานรากที่หลุดออกจากระบบ ให้เข้าสู่ระบบ สามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนให้เกิดผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่จะสร้างผลกระทบที่ดีให้เกิดขึ้นกับตนเองและชุมชน

ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงทุนเรื่องการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมผู้ประกอบการหลายส่วน มีการส่งเสริมการสร้าง SE Incubation Platform มีศูนย์บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ ช่วยเหลือ SE ในเชิงธุรกิจและการสร้างนวัตกรรม (Business model and Technical Incubation) มีสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานให้กับ SE อาทิ โรงงานต้นแบบเพื่อการผลิตสินค้า หรือการให้คำแนะนำในการประกอบธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย เป็นต้น มีรูปแบบโปรแกรมการดำเนินงานที่ฝังตัวอยู่กับพื้นที่ SE สามารถเข้าขอรับคำปรึกษาได้ อีกทั้งยังมีการเชื่อมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Access to Fund) ระบบการสนับสนุนต่าง ๆ และช่วยในการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement)

“วิสาหกิจเพื่อสังคมยังสามารถเป็น incubator ช่วยบ่มเพาะกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น (local entrepreneurs) เพื่อต่อยอดขยายโอกาสในการพัฒนาระดับพื้นที่ เกิดการจ้างงานในพื้นเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ช่วยสร้างความมั่นคงและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังมีแนวทางการ spin-off สำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ ที่สามารถให้เงินทุนสนับสนุนกับเอกชนในธุรกิจนวัตกรรม ช่วยส่งเสริมการทำกิจกรรมทางการตลาดได้ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมสู่ธุรกิจและการค้าข้ามพรมแดน ผ่านการเชื่อมต่อตลาด E-Commerce และการค้าระหว่างประเทศ มีศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีและการประกอบการ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และมีการส่งเสริมการเข้าถึงบุคลากรสมรรถนะสูงด้วย

เรื่องล่าสุด