×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. เดินหน้าสัมมนาเชิงลึกหลักสูตร BCG ชวนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน พร้อมระดมความเห็นพัฒนาตัวชี้วัด BCG เชื่อมโยงแหล่งทุนและมาตรการสนับสนุนจากรัฐ

สอวช. เดินหน้าสัมมนาเชิงลึกหลักสูตร BCG ชวนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน พร้อมระดมความเห็นพัฒนาตัวชี้วัด BCG เชื่อมโยงแหล่งทุนและมาตรการสนับสนุนจากรัฐ

วันที่เผยแพร่ 30 มิถุนายน 2023 660 Views

(29 มิถุนายน 2566) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานสัมมนาเชิงลึกหลักสูตร BIO-CIRCULAR-GREEN เศรษฐกิจใหม่ ใกล้ตัว ภายใต้โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) ณ ห้อง Nile 4 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กล่าวเปิดงานโดย นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา คณะกรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และรองประธานสายงานโลจิสติกส์ การค้าชายแดน และพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) (BTNC)

นายปณิธาน กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่อง BCG เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถือเป็นความท้าทายร่วมของทุกภาคส่วนที่ต้องเดินหน้าร่วมกัน โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ การที่เรามารวมตัวกันในครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการริเริ่มสร้างสังคมใหม่ สร้างสังคม BCG และสร้างความตระหนักว่าทุกอย่างที่เราทำนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนด้วย

ด้าน ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช. กล่าวว่า งานนี้เป็นการจัดงานร่วมกันกับบริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) (BTNC) และบริษัทในเครือสหพัฒน์ รวมถึงกลุ่มบริษัทที่มีความพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ BCG จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยในช่วงเช้าจะเน้นหลักสูตร BCG สัมมนาเชิงลึก ในหัวข้อ “BCG แนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน” และในช่วงบ่ายจะเป็นการ Workshop ระดมสมองเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับกรอบเกณฑ์ในการพัฒนา BCG Indicator สำหรับผู้ประกอบการ โดยจะมีการเก็บข้อมูลที่ได้จากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อนำไปวิเคราะห์และพัฒนาเชิงวิชาการนโยบายต่อไป

สำหรับเวทีเสวนา “BCG แนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน” มีผู้เข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ นางสาวอโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายระดมทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) นายมงคล เสฎฐานุพงศ์ ผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ นายนรชัย รังสีวิจิตรประภา ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. โดยในช่วงแรก ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนถึงเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและกระทบกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งเทรนด์สำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง มีตั้งแต่เทรนด์เรื่องสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล รวมไปถึงเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ที่เชื่อมโยงกับการตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของไทย ซึ่งภาพรวมเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน และการประกอบธุรกิจที่มองถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มองเพียงผลกำไรอย่างเดียว

ผู้ร่วมเสวนายังได้แบ่งปันแนวทางการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในการขับเคลื่อนเรื่อง BCG และการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ BCG ทั้งการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง BCG การหาเครื่องมือกลไกในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อหาแนวทางรับมือ แนวทางลดการปล่อยก๊าซ และทำให้เกิดมาตรฐานการวัดขึ้นมา โดยผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับตัวและตื่นตัวอยู่ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ไม่ใช่เพียงในบริษัทใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้ ในมุมของการลงทุนและการให้สินเชื่อของธนาคาร ยังมีแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจ BCG หรือธุรกิจที่มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น และนักลงทุนเองก็จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นด้วย

ส่วนการจัด BCG Indicator Workshop ได้รับเกียรติจาก นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ และ ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และ ดร.ศรวณีย์ ร่วมจัดการระดมความเห็นร่วมกับผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่กลุ่ม SME Startup ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ โดยประเด็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ต้องมีการพัฒนา BCG Indicator ขึ้นมา เกิดจากที่ BCG อาจยังไม่มีนิยามกลางที่ชัดเจน จึงต้องมีตัวชี้วัดขึ้นมาเพื่อให้สามารถบอกได้ว่าผู้ประกอบการรูปแบบใดบ้างที่เป็น BCG และเมื่อมีความชัดเจนในการจัดกลุ่มแล้วจะต้องมองถึงการเชื่อมโยงกับมาตรฐานอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม เป็นเครื่องมือในการวัดผู้ประกอบการเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการการสนับสนุนการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ รวมทั้งเป็นเครื่องมือวัดผู้ประกอบการที่อยากจะพัฒนาในมิติ BCG ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างความตระหนักและเสริมสร้างความเป็นผู้ประกอบการตามกรอบแนวคิด BCG เพื่อให้ธุรกิจมีความยั่งยืนและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถที่จะเตรียมตัวเพื่อรองรับมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ที่จะมีขึ้นได้

เรื่องล่าสุด