×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “AI for Social Good” ในประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อภิปรายหาแนวทางเชื่อมโยงงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ สู่นโยบายภาครัฐที่ปฏิบัติได้จริง

สอวช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ “AI for Social Good” ในประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ อภิปรายหาแนวทางเชื่อมโยงงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ สู่นโยบายภาครัฐที่ปฏิบัติได้จริง

วันที่เผยแพร่ 12 พฤษภาคม 2023 651 Views

(11 พฤษภาคม 2566) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) สมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities: APRU) กูเกิล (Google.org) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University: ANU) และพันธมิตรภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในประเทศไทย (Country Workshop) โครงการ “AI for Social Good: Strengthening Capabilities and Governance Frameworks in Asia and the Pacific” ณ ห้องหว้ากอ 1-2 สอวช. มีผู้เข้าร่วมการประชุม ทั้งทีมวิชาการ นักวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย ที่มาร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อหาแนวทางเชื่อมโยงผลการวิจัยไปสู่การสร้างนโยบายและนำไปปฏิบัติได้จริง โดยมี ดร.กาญจนา วานิชกร นักยุทธศาสตร์ระดับสูง สอวช. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร.กาญจนา ได้กล่าวถึงความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ในประเทศไทย ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนประเทศในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยเอง มีปัญหาทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย  (Thailand National AI Strategy and Action Plan) การจัดการประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการมองถึงแนวทางการพัฒนาด้านนโยบายและการยกระดับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สอวช. มองถึงการยกระดับแนวทางแก้ไขปัญหา ผ่านงานวิจัย การทำความร่วมมือกับภาคเอกชน และพันธมิตรในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาแนวทางด้านนโยบายที่เป็นสากล โดยล่าสุด ทีมวิจัยได้มีการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ใน 2 โครงการ ได้แก่ 1) ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการแพทย์และสุขภาพ (Medicine and Healthcare) และ 2) ปัญหาประดิษฐ์ในการขจัดความยากจน (Poverty Alleviation)

“เราต้องการนโยบายที่เฉพาะเจาะจง ที่เราสามารถออกแบบเองได้ เพื่อให้เหมาะสมกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในประเทศ โดยจะต้องใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย หวังว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ จะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.กาญจนา กล่าว

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำเสนอผลการวิจัยจากทั้ง 2 โครงการ และระบุถึงประเด็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาครัฐได้ จากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่ออภิปราย แลกเปลี่ยนแนวคิด ความเห็นระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ได้แก่ สอวช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนภาคเอกชน และเครือข่ายพันธมิตรภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อปรับปรุงงานวิจัยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงหารือแนวทางการนำผลการวิจัยไปต่อยอดและแปลงเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไปได้

ทั้งนี้ ภายหลังจากการปรับปรุงงานวิจัยแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะมีการประชุม (Summit) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทั้ง 2 โครงการในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย

เรื่องล่าสุด